วัดวรจันทร์

วัดวรจันทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลโพธิ์พระยา เหนือสุดของอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เขตอุปจารของวัดห่างจากตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ ประมาณ 100 เมตรเศษ ความเป็นจริงสมัยโน้นเขตของอำเภอศรีประจันต์เป็นของ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี (อำเภอท่าพี่เลี้ยงเดิม) ใครจะเป็นผู้แรกสร้างมาแต่เมื่อไร สืบสวนไม่ได้ความตลอด เพราะเหตุว่าในเวลาเมื่อเขียนประวัติเรื่องนี้ ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากๆ ได้ล่วงลับไปเสียหมด แต่คงได้ความยุติว่า ได้ตั้งมากว่าร้อยปี คือก่อนพุทธศักราช 2377 แต่เดิมไม่มีถาวรวัตถุอันใด นอกจากกุฏีไม้ไผ่มุงแฝกอยู่ 2 ถึง 3 หลัง ตั้งอยู่ที่ต้นมะตูมเหนือสระเก่าและต่อมาได้เป็นป่าช้าเผาผี มีวิหารเก่ามุงแฝกไม่มีฝา มีพระประธานปูนปั้น หน้าตัก 3 ศอกเศษประดิษฐานอยู่ เพียงเท่านี้ พ.ศ. 2444 ทางราชการถอนเนื้อที่ตอนเหนือของอำเภอเมืองฯ หรืออำเภอท่าพี่เลี้ยง ในสมัยนั้น คือ ตำบลมดแดงขึ้นไปและตัดเนื้อที่ตอนใต้ของอำเภอสามชุก (เดิมชื่ออำเภอนางบวช) เป็นอำเภอศรีประจันต์ ด้วยเหตุดังกล่าว วัดวรจันทร์จึงอยุ่สุดเขตของอำเภอเมืองสุพรรณบุรี พ.ศ.2466 ชลประทานมีการสร้างประตูน้ำโพธิ์พระยาขึ้น ทางด้านวัดพร้าวซึ่งเป็นฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ (แม่น้ำท่าจีน) ฝั่งตรงข้ามกับวัดวรจันทร์ จำเป็นต้องปิดกั้นแม่น้ำตรงวัดวรจันทร์และวัดพร้าว เพื่อเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำไปทางตะวันตกของวัดพร้าว แม่น้ำสุพรรณ ตอนวัดวรจันทร์และวัดพร้าวจึงไม่เป็นทางสัญจรไปมาของเรือต่างๆ จึงมีการสร้างสะพานไม้ขึ้น เชื่อมระหว่างวัดพร้าวและวัดวรจันทร์ ปัจจุบันเป็นสะพานปูนแล้ว พ.ศ. 2476 วัดนี้แต่เดิมเรียกว่าวัดจันทร์ ได้เปลี่ยนเป็นวัดวรจันทร์ โดยเพิ่มคำว่าวร ซึ่งแปลว่ายอดเยี่ยม ประเสริฐ เลิศ อันนี้ เป็นเพราะเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดเชตุพน เมื่อยังเป็นพระธรรมปิฎก และเป็นเจ้าคณะมณฑลราชบุรี พระครูธรรมสารรักษา (หลวงพ่อพริ้ง) เป็นสมภารอยู่วัดนี้ เห็นว่าชื่อวัดจันทร์ไปพ้องกับวัดจรรย์ อำเภอศรีประจันต์ ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปประมาณ 8 – 9 กิโลเมตร เป็นเหตุให้มีการส่งหนังสือราชการผิดพลาดไข้วเขวกันเนืองๆ ฉะนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีจึงให้เปลี่ยนวัดจันทร์เป็น วัดวรจันทร์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด