วัดบ้านเมืองจันทร์ ไม่ปรากฏประวัติการสร้างแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าชาวบ้านเมืองจันทร์ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไทยกูย กลุ่มคนพื้นถิ่นดั้งเดิมในแถบอีสานล่าง โดยอพยพแยกบ้านมาจากทางเหนือแถวจังหวัดสุรินทร์และร้อยเอ็ด เพื่อมาตั้งถิ่นฐานใหม่พร้อมกับชาวบ้านตาโกน ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปทางเหนือประมาณ ๖ กิโลเมตร ทำให้คนทั้งสองหมู่บ้านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน จนมีคำเรียกติดปากชาวบ้านทั่วไปว่า “เมืองจันทร์ตาโกน” … ชื่อ “เมืองจันทร์” สันนิษฐานว่าเป็นการเอาชื่อตำแหน่งของผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นตำแหน่งหนึ่งในเสนาบดีชั้นพญาที่สำคัญ ในระบบการปกครองแบบอาญาสี่ สมัยอาณาจักรล้านช้างมีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานของไทยในอดีต มาตั้งเป็นชื่อบ้าน และมักเป็นบ้านเก่าที่ตั้งมานานก่อนที่จะมีการปฏิรูปการปกครอง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ … บ้านเมืองจันทร์ในอดีต มีการกล่าวถึงไว้ในบันทึกการเดินทางของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาบ้านเมืองจันทร์ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๒๖ โดยได้บรรยายไว้บางตอนว่า บ้านเมืองจันทร์เป็นหมู่บ้านใหญ่ที่เรียกว่า “เมือง” ตั้งอยู่บนเนินดินมีกระท่อมอยู่ ๘๐ หลัง มียุ้งข้าวสร้างอยู่ติดกัน บ้านตั้งอยู่อย่างแออัดภายในรัศมี ๒๐๐ เมตร มีถนนเล็ก ๆ ตัดผ่าน ในหมู่บ้านมีวัดอยู่วัดเดียว เนินดินภายในหมู่บ้านสูงกว่าที่นาโดยรอบหลายเมตร และมีน้ำล้อมรอบ บ้านเมืองจันทร์ประชาชนเป็นชาวกูย อยู่ห่างจากสุรินทร์ ๒ วัน ห่างจากสังขละ ๒ วัน และห่างจากศรีสะเกษ ๑ วัน ชาวกูยเหล่านี้ปลูกข้าวและยาสูบ พระภิกษุเป็นชาวกูย เรียนอักษรลาว เมืองจันทร์มีวัดและ ปราสาทแบบขอม … ปัจจุบันวัดบ้านเมืองจันทร์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๘๓ง. วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑ กำหนดเขตพื้นที่ประมาณ ๘๖ ไร่ ๒ งาน ๓๘ ตารางวา และกรมศิลปากรดำเนินการบูรณะเมื่อปี ๒๕๕๓ … สิ่งสำคัญในพระอาราม คือ พระอุโบสถ (สิม) สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๖ มีลักษณะเป็นอาคารพื้นถิ่น คือ เป็นอาคารโถง ก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ หลังคามุงแป้นไม้ มีผนังสูงเป็นแผงหลังพระประธาน อีก ๓ ด้าน เป็นผนังเตี้ย ที่ผนังทั้งภายนอกและภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยญาคูหาญ พระสงฆ์ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รวบรวมช่างฝีมือช่วยกันเขียนขึ้นในภายหลัง สิมวัดบ้านเมืองจันทร์ เป็นสิมขนาดเล็ก หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง ๔.๑๐ เมตร ยาว ๕.๑๐ เมตร มีบันไดขึ้นทางด้านทิศตะวันตก ตัวสิมก่ออิฐฉาบปูน ฐานสูง ๑.๒๐ เมตร ผนังสูง ๒.๐๐ เมตร ผนังด้านในมีเสาไม้กลมที่ด้านทิศตะวันตก ๓ ต้น และด้านทิศตะวันออก ๓ ต้น ผนังด้านทิศเหนือมีช่องหน้าต่างขนาดเล็กไม่มีบานหน้าต่าง จำนวน ๔ ช่อง ด้านทิศใต้มีช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ ๑ ช่อง และด้านทิศตะวันตกมี ๒ ช่อง พื้นภายในปูอิฐฉาบผิวปูนเรียบ มีใบเสมาขนาดเล็กปักเป็นกลุ่มโดยรอบ ๘ ทิศ ผนังด้านนอกทิศตะวันตกประดับคันทวยไม้แกะสลักจำนวน ๓ ตัว และด้านทิศตะวันออกจำนวน ๓ ตัว (ปัจจุบันเหลือ ๑ ตัว) ส่วนเครื่องหลังคาพังลงมาทั้งหมด กำหนดอายุการสร้างอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ อิทธิพลศิลปะพื้นบ้านอีสาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๕ … ธาตุเมืองจันทร์ รูปแบบเป็นเจดีย์เพิ่มมุมไม้สิบสอง เรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้ง ๔ ด้าน ส่วนบนเป็นการจำลองเรือนธาตุซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๓ ชั้น ปลียอดสอบแหลม กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ศิลปะล้านช้างผสมขอมแบบท้องถิ่น เปรียบเทียบได้กับปราสาท บ้านปราสาท ตำบลบ้านปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
โบราณสถานธาตุเมืองจันทร์และสิม