ในปี พ.ศ. 2354 มีการตั้งเมืองตรังและมีการตั้งศาลหลักเมืองตรังปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลตวนธานี อำเภอกันตัง สถานที่ตั้งตรงจุดนี้อยู่บริเวณที่ตั้งเมืองเก่าหลักฐานการสร้างศาลหลักเมืองตรังเป็นเพียงการบอกเล่าของเชิงตำนานที่ถ่ายกันมาในหมู่ชาวตรังรุ่นเก่าๆว่าศาลหลักเมืองแห่งนี้มีวิญญาณอภิบาลเป็นสตรีจึงเรียกกันว่าศาลเจ้าแม่หลักเมืองเนื่องจากในพิธีตั้งศาลหลักเมืองนั้น พระอุภัย(บางแห่งว่าพระอุไทย) เจ้าเมืองให้ทหารตีฆ้องร้องป่าวไปตามบ้านต่างๆ ถ้าผู้ใดขานรับให้นำตัวมาฝังในการตั้งศาลหลักเมือง ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้เรื่องเข้าจึงไม่ยอมขาน แต่หญิงมีครรภ์ผู้หนึ่งชื่อนางบุญมากลังทำอาหารเย็นอยู่ในครัวเกิดพลั้งเผลอขานรับจึงนำตัวไปฝังพร้อมพิธีฝังเสาหลักเมือง ที่ตั้งศาลหลักเมืองเดิมเป็นเพิงเล็กๆหลังคามุงสังกะสีเสาหลักเมืองมีจอมปลวกขึ้นจนมองไม่เห็นตัวเสา เมื่องถึง พ.ศ. 2504-2505 ทางจังหวัดได้ตั้งศาลาจัตุรมุขขึ้นแทนเพิงหลังคาเก่า พ.ศ. 2530 สร้างรั้วและพ.ศ. 2532 ลาดพื้นรอบๆศาลา ศาลหลักเมืองตรังนับเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวตรังทั่วไปจนเกิดความเชื่อถือศรัทธาในทางความศักดิ์สิทธิ์มีการบนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เล่ากันว่าคณะหนังตะลุง มโนราห์ที่เดินทางผ่านศาลหลักเมืองนี้จะต้องตีกลองหรือบรรเลงดนตรีสักการะทุกครั้งที่ผ่าน เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในการเดินทางและการแสดง อีกเรื่องหนึ่งคือตามประเพณีถือศีลกินเจของคนไทยเชื่อสายจีนในจังหวัดตรังซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เมื่อขบวนแห่พระผ่านศาลหลักเมืองก็ต้องแวะหยุดสักการะ นอกจากนี้ชาวบ้านก็ได้ร่วมกันจัดพิธีถือศีลกินเจที่บริเวณศาลหลักเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2511 และจัดต่อมาจนถึง พ.ศ.2533 จึงเลิกไปเพราะทางจังหวัดเตรียมการบูรณะ ใน พ.ศ.2535 ทางจังหวัดเริ่มโครงการบูรณะศาลหลักเมืองตรังเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยสร้างอาคารศาลหลักเมืองเป็นทรงไทยจัตุรมุขและจัดทำยอดเสาหลักเมืองใหม่ นำขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมในวันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และอันเชิญยอดเสาหลักเมืองกลับจังหวัดตรัง ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯแทนพระองค์ทรงเปิดศาลหลักเมืองตรังในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2538 ทุกวันนี้ ความเชื่อถือศรัทธาต่อศาลหลักเมืองตรังยังคงสืบทอดต่อๆมาผู้คนที่ผ่านไปมามักยกมือไหว้คาระวะ หรือแวะสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะศาลหลักเมืองเป็นที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองตรังมานานกว่า 100 ปี