ศาลหลักเมือง จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่ถนนจอมพล มุมวัดพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด เป็นที่เคารพนับถือและมากราบไหว้เป็นประจำ ศาลหลักเมืองนครราชสีมา สร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองนครราชสีมาระหว่างปี พ.ศ. 2199-2231 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ยกกองทัพมายึดเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2369 ได้ทำลายเสาหลักเมือง โดยโค่นล้มเสาหลักเมือง จากการเล่าสู่กันมาจาก นายแก้ว เพชรโสภณคนดูแลศาลเล่าว่า ศาลเดิมเป็นศาลไม้เล็ก ๆ มีเสา 6 ต้น ปลูกเป็นโรงเรือนพื้นเป็นดิน หลังคามุงสังกะสี ฝากระดานเกร็ด มีประตู 1 ประตู เสาหลักเมืองถูกแขวนโยงไว้ด้วยเชือกหนัง ทั้งหัวเสาและโค่นเสา โดยหันหัวเสาไปทางประตูไชยณรงค์ หรือ ประตูผี(ทิศใต้) ส่วนโคนเสาอยู่ทางทิศปะตีน(ทิศเหนือ) สภาพภายในค่อนข้างมืดสลัว มีกลิ่นหอมธูปเทียนอบอวน บริเวณหน้าศาลเป็นโคลน มีต้นจันทร์ปลูกเรียงรายตามถนน มีเสาหลักร้อย(เสาหลักแรกของเมืองนครราชสีมา ปักไว้ฝั่งตรงข้ามถนน) เสานี้จะปักไว้ข้างถนนเป็นระยะจนถึงบ้านหลักร้อย ทางทิศตะวันตกของศาลเป็นป่า มีโรงหนัง โรงลิเก คนเมืองนครราชสีมานับถือศาลหลักเมืองนี้มาก คนผ่านไปมาจะต้องกราบไหว้ โดยเฉพาะเกวียนเทียมวัว ถ้าไม่กราบไหว้เกวียนจะติดล่ม วัวจะล้มลุกเดินไปไม่ได้จนกว่าจะเซ่นไหว้เสียก่อน ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ร.ศ. 119 ทรงได้เสด็จทอดพระเนตรศาลหลักเมือง ทรงจุดเทียนบูชาเทพารักษ์ แล้วเสด็จทรงม้าพระที่นั่งกลับทางประตูชุมพล ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2446 (ร.ศ.122) พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทรงสังเวย ขณะนั้นพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นมกุฏราชกุมาร เมื่อ ปี พ.ศ. 2506 ประชาชนพ่อค้า ข้าราชการ ได้ร่วมกันสร้างศาลขึ้นใหม่แทนศาลเดิมซึ่งสร้างด้วยไม้ได้ชำรุดทรุดโทรมลง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นศาลใหม่ พระบาทสมเด็ขพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทำพิธีสังเวย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2506 เวลา 09.30 น. และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480