ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวจังหวัดสมุทรปราการ มานานเกือบ 200 ปี มีลักษณะแตกต่าง จากการสร้างหลักเมืองที่อื่นๆ ที่มีการแยกสถานศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองเป็น 2 ส่วนคือ ศาลเจ้าพ่อ คุ้มครองเมือง ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อของจีน เสาหลักเมือง ซึ่งถือเป็นฐานหลักของแต่ละเมือง แต่ชาวเมืองปากน้ำนิยมเรียกรวมเป็นชื่อเดียวว่าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เสาหลักเมือง ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ สูง 6 ศอก เมื่อครั้งสร้างเมืองสมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงประกอบพิธีฝังหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก กระทั่งวันพะเดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่ง 4 นาฬิกา 6 บาท ได้ฤกษ์เอาแผ่นยันต์ ทอง เงิน ทองแดง ดีบุกและศิลา ลงสู่ภูมิบาท แล้วยกเสาหลักเมือง ณ วันเสาร์เดือน 4 ขึ้น 13 ค่ำ ย่ำรุ่ง 5 นาฬิกา 6 บาท ฝังอาถรรพณ์ แผ่นยันต์องค์รักษ์อีกครั้ง ศาลเจ้าพ่อ คือ ศาลแห่งเทพเจ้าที่ชื่อ เฉิงหวง (คำว่า เฉิง คือ เมือง ส่วนคำว่า หวง คือ เจ้า เมื่อรวมความคำ เฉิงหวง คือ เทพเจ้าเมือง ) ตามตำนานจีน เทพเฉิงหวง เป็นเทพผู้มีพระมัสสุ(หนวด)ยาว หน้าตาน่าเกรงขาม การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัว จากแยกบางนาตรงไปตามถนนสุขุมวิทเข้าตลาดปากน้ำ รถโดยสารประจำทาง สาย 25, 102, 145 รถโดยสารปรับอากาศ สาย 25, 102, 142, 142, 507, 508, 511, 536 ไปลงตลาดปากน้ำ