ในอดีต พื้นที่เขตปกครองของตำบลไพร อำเภอขุนหาญ ในปัจจุบัน เป็นพื้นที่อยู่ในเขตปกครองขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ มีเจ้าเมืองปกครองชื่อ พระยาขุขันธ์ มีอาณาเขตกว้างใหญ่มาก มีตำนานเล่าสืบทอดเกี่ยวกับเรื่องการตั้งชื่อหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ในเขตตำบลไพรในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกชื่อหนองน้ำแห่งนี้ว่า “หนองกราม” เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๖๐ ได้เกิดโรคห่า (โรคอหิวาต์) ระบาดขึ้นในเมืองขุขันธ์ ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยนั้นทางการยังไม่มีหมอเยียวยารักษา ซ้ำร้ายในปีนั้นได้เกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนไม่ตกติดต่อกันหลายปี ห้วยเหนือ ซึ่งเป็นสายน้ำซึ่งถือว่าเป็นเส้นเลือดหลักของชาวเมืองขุขันธ์แห้งขอดตื้นเขิน บางช่วงน้ำเปลี่ยนทิศทางไหลไปทางอื่น ทำให้ประชาชนประสบความเดือดร้อนแสนสาหัส ผู้มีชีวิตรอดจากโรคร้ายต่างอพยพหนีตายเพราะอดอยากไปคนละทิศละทาง เพื่อให้พ้นจากสภาวะยากแค้น … ต่อมาเมื่อประมาณปี พุทธศักราช ๒๓๖๔ – ๒๓๖๕ มีราษฎรกลุ่มหนึ่ง นำโดย นายอรุณ – นางสว่าง สองสามีภรรยา พร้อมคณะผู้ติดตาม ได้พร้อมกันอพยพหนีถิ่นฐานเดิม เสาะหาถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ โดยนายอรุณในฐานะหัวหน้ากลุ่ม ได้สั่งให้คณะจัดกองคาราวาน อพยพต้อน วัว ควาย จัดสัมภาระสิ่งของบรรทุกเกวียนอพยพมุ่งหน้าขึ้นมาทางทิศตะวันออกตามเส้นทางเกวียน ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อระหว่างเมืองโคราช เมืองสุรินทร์ เมืองขุขันธ์ เมืองน้ำอ้อม ถึงเขตเมืองจำปาศักดิ์ (แต่เดิมเป็นทางเกวียนใช้สัญจรและเดินเท้าได้เฉพาะฤดูแล้ง) เมื่อเดินทางรอนแรมมาถึงหนองปริง (ต้นปริง คือต้นหว้า) ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกของโรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยาในปัจจุบัน แต่เดิมนั้นมีหนองน้ำขนาดเล็ก และมีต้นหว้าขนาดใหญ่หลายร้อยต้นขึ้นอยู่รอบหนองให้ความร่มรื่น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และฝูงนกจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงเป็นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของคนโบราณ เมื่อเห็นเป็นทำเลเหมาะสมและน่าจะอุดมสมบูรณ์ นายอรุณจึงสั่งให้คณะผู้ติดตามและกองคาราวาน หยุดพักอยู่ที่หนองน้ำที่มีต้นหว้าขึ้นเต็มแห่งนั้น (ตระเบี่ยงปริง) … ต่อมานายอรุณและพวกซึ่งถือว่าหนีร้อนมาพึ่งเย็น ได้จัดเครื่องเซ่นสังเวย ทำพิธีบวงสรวงต่อเทวดาอารักษ์ เจ้าที่ เจ้าภูมิ ว่า หากตนเองและคณะจะตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยบริเวณนี้จะดีหรือไม่อย่างไร ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธ์เทวดาอารักษ์ทั้งหลายรับรู้และโปรดได้มานิมิตเข้าฝันด้วยเถิด … อยู่มาคืนหนึ่ง มีผู้นิมิตเห็นเทวดามาบอก ภูมิประเทศที่เหมาะสมและเป็นศิริมงคลที่จะตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยแล้วจะร่มเย็นเป็นสุข คือ บริเวณเนินสูงอยู่ทางทิศตะวันออกของหนองน้ำแห่งนี้ห่างไปไม่ไกลนัก … คณะของนายอรุณและพวกจึงปฏิบัติตามนิมิต ประชุมตกลงและรวมกลุ่มแผ้วถางพื้นที่ทางทิศตะวันออกหนองหว้า เพื่อจะปลูกบ้านเรือนตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่อาศัย และตั้งเป็นชุมชนนับแต่นั้นมา (ปัจจุบันพื้นที่นั้นคือที่ตั้งโรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา และสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลไพร ) … เมื่อตั้งบ้านเรือนแล้ว นายอรุณจึงเรียกประชุม จัดระเบียบปกครองหมู่บ้าน หารือกันเรื่องทำมาหาเลี้ยงชีพ มีการสำรวจ และตั้งชื้อหนองน้ำห้วย บึง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่โดยรอบ โดยนำชื่อคนในหมู่บ้าน หรือสภาพพื้นที่ตรงนั้นมาตั้งเป็นชื่อแหล่งน้ำตามความเหมาะสม เช่น หนองโดนก็วง หนองจำกอย หนองสาหร่าย หนองตาเอ็บ หนองโกรน (โกรล – กรอล- แปลว่า คอก) ซึ่งเป็นแหล่งที่ชาวบ้านมักจะนำวัวควายมาหลบให้พ้นจากการลักขโมยและปล้นจี้ในฤดูแล้ง หนองตึกเทลี่ย ( ตึกทะเลีย แปลว่า น้ำใส ) เป็นต้น … พื้นที่ตั้งหมู่บ้านดังกล่าวเป็นที่เนินสูง ลาดไปทางทิศตะวันตกและเยื้องไปทางทิศเหนือระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร มีหนองน้ำธรรมชาติพื้นที่กว้างใหญ่ (เนื้อที่ปัจจุบัน ๑,๓๕๐ ไร่) มีน้ำขังเต็มปริ่มตลอดปี มีสัตว์น้ำ ปู ปลา อุดมสมบูรณ์เหลือคณานับ บริเวณรอบหนองมี “ดินโป่ง” (ดินโป่ง คือดินเค็ม เกลือ) ที่ฝูงสัตว์ป่านานาชนิด เช่นฝูงช้าง เก้ง กวาง หมูป่า วัวป่า ควายป่า ชอบมากินดินโป่ง และลงเล่นในหนองน้ำอย่างชุกชุมตลอดฤดูกาล คณะของนายอรุณมีกลุ่มพรานป่าอยู่กลุ่มหนึ่ง มีหน้าที่ออกป่าล่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงดูครอบครัวและญาติมิตรในชุมชน ในสมัยโบราณอาวุธที่ใช้ล่าสัตว์ นอกจากจะมีหอก ดาบ กับดัก ที่ทำขึ้นเองแล้ว ในยุคสมัยนั้นจะมีปืนโบราณหรือปืนคาบศิลา ใช้ดินประสิวเป็นดินเพลิงในการยิงสัตว์ใหญ่
หนองน้ำธรรมชาติแห่งนั้น นอกจากจะมีดินโป่งทำให้สัตว์ป่าชุกชุมแล้ว บริเวณนั้นยังมีสารชนิดหนึ่ง เรียกว่า “คราม” ด้วย ซึ่งเป็นสารสำคัญที่คนโบราณนำมาผสมกับถ่านไม้ชนิดหนึ่งเพื่อทำเป็นดินประสิว หรือดินปืนเพื่อใช้ในการล่าสัตว์ บางรายผสมกับมูลค้างคาวทำเป็นดินปืน … ภายหลังคำว่า “คราม” ผู้คนในท้องถิ่นเรียกเพี้ยนเป็น “กราม” นานเข้า ผู้คนในท้องถิ่นละแวกใกล้เคียงจึงเรียกกันติดปากว่า “หนองกราม” คือหนองน้ำมี “คราม” หรือ “กราม” อยู่ทั่วไปนั่นเอง … คราม ถือว่ามีความสำคัญในการทำดินปืนล่าสัตว์อย่างมากในยุคสมัยนั้น และในเวลาต่อมาผู้คนจึงตั้งชื่อหมู่บ้านที่ตนเองอาศัยอยู่ว่าหมู่บ้านกราม ตามชื่อหนองน้ำ “หนองกราม” และใช้เรียกชื่อนั้นจนถึงตราบทุกวันนี้ … มีเรื่องเล่าอีกว่า นายพรานจากละแวกชุมชนอื่น จะต้องเดินทางมาซื้อหรือนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกับครามจากชุมชุนของนายอรุณเพื่อนำไปทำดินประสิว เรียกว่าเป็นศูนย์กลางการค้าขายครามในสมัยนั้นเลยทีเดียว … แต่เดิมพื้นที่ตำบลไพรในปัจจุบัน(หรือหนองกรามในอดีต) อยู่ในการปกครองของเมืองน้ำอ้อม (อำเภอกันทรลักษ์ ในปัจจุบัน) ต่อมาขุนแพรว บ้านไพร (ลุน สัมพันธ์) อดีตกำนันคนแรก จึงขอเปลี่ยนชื่อตำบลใหม่ เป็นตำบลไพร ตามชื่อหมู่บ้านไพรที่ตนเองอาศัยอยู่จนถึงทุกวันนี้ … ประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๘๑ บ้านกราม ได้พัฒนาจนเจริญรุดหน้ามีการวางผังหมู่บ้าน ตัดถนนเชื่อมต่อไปถึงบ้านไพร ถึงหนองกราม (เส้นทางสายขุนหาญ – ตระกาจ) ต่อมาภายหลังพระอาจารย์เสน (เสน ปรางศรี) พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีส่วนทำนุบำรุงวัดบ้านกราม จึงตั้งชื่อวัดบ้านกรามใหม่ เป็น “วัดอรุณสว่างบ้านกราม” และเป็นผู้ที่ตั้งชื่อหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ของชุมชนว่า “หนองกราม” อีกครั้ง เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้แก่ นายอรุณ – นางสว่าง และคณะ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านกราม และตั้งชื่อ “หนองกราม” ให้อนุชนรุ่นหลังรับรู้และสืบทอดกันตลอดไป … ภายหลังพระอาจารย์เสนได้จาริกแสวงบุญไปยังกัมพูชา และไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างวัดก่อวิหารอยู่ที่จังหวัดไพลิน ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “เจ้าคุณพระมงคลโสภิต” เจ้าคณะจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา จนถึงคราวสงครามเขมรแตกในปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ ท่านเจ้าคุณจึงอพยพเข้าฝั่งไทย มาพักจำวัดอยู่ที่วัดอรุณสว่าง ระยะหนึ่ง คณะศิษยานุศิษย์ทางกรุงเทพฯ จึงได้นิมนต์ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบางขัน จังหวัดปทุมธานี และถึงแก่มรณภาพในเวลาต่อมา
แหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดตามธรรมชาติ