เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์ปัจจุบัน เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 พระองค์ทรงเสด็จพระราดำเนินเยี่ยมเยียน และดูแลทุกข์สุขของราษฎรตามท้องที่เขตจังหวัดใกล้เคียง ในวโรกาสนั้นพระองค์ได้ทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนว 83 ครอบครัว ว่าขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพพระองค์จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กู้ยืมไปลงทุน เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท ภายหลังไม่ปรากฏผู้ใดนำเงินจำนวนที่กู้ยืมไปทูลเกล้าถวายคืนแก่พระองค์ท่านเลย และความได้ทราบฝ่าละอองพระบาทว่าเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ได้อาศัยเช่าของกรมประชาสงเคราะห์ โดยเฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 2 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปจัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรดังกล่าวต่อไป ขณะเดียวกันนั้นรัฐบาลอิสราเอล โดย ฯพณฯ เอกอัครราชฑูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ขอทราบหลักการของโครงการและอาสาที่จะช่วยเหลือในการพัฒนาการเกษตรในรูปของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ต่อมาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติได้เสนอหลักการของโครงการต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติเห็นชอบด้วยกับโครงการ ได้ทำสัญญาร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล โครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2509 กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี สิ้นสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2514 ใช้ชื่อว่า “โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)” คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (เดิม) และกระทรวงเกษตร (เดิม) ร่วมมือกันเป็นเจ้าของเรื่อง พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรเป็นรองประธาน และผู้แทนจากหน่วยราชการอื่นร่วมเป็นกรรมการ เช่น เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นต้น ด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการทุกฝ่ายได้เลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรของโครงการอิสราเอล โดยเหตุผลที่ว่าเดิมที่ดินบริเวณนี้เป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่การทำมาหากินไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเลวขาดแคลนน้ำ การทำไร่จึงเป็นลักษณะไร่เลื่อนลอย ต้องย้ายที่อยู่เสมอทุกระยะ 3 – 4 ปี การจับจองไม่สัมฤทธิ์ผล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้ และกฎหมายที่ดินทุกประการ เมื่อมีแนวพัฒนาที่ดินดีขึ้นแล้ว ก็จะจัดให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และเกษตรกรที่ขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ดินทำกินเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ต่อไป หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศและสำรวจแหล่งเก็บกักน้ำ และดินทั่วๆ ไป ตลอดจนสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินในบริเวณพื้นที่โครงการ ได้มีการขุดเจาะพบน้ำบาดาล แต่ปริมาณน้อย ภายหลังได้ตั้งเครื่องยนต์สูบน้ำขึ้นเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการชลประทานเพื่อการเกษตร จากการสำรวจปรากฏว่า ดินส่วนใหญ่มีคุณภาพเลว คือ ประมาณ 6,500 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นดินเลวปนดีพอที่จะทำกสิกรรมได้บ้าง เมื่อได้มีการพัฒนาที่ดินและจัดระบบชลประทานในพื้นที่ 500 ไร่ แล้วตั้งเป็นศูนย์สาธิตทดลองการเกษตร พร้อมทั้งอพยพเกษตรกร 2 ครอบครัว ครอบครัวแรกจากกลุ่มเกษตรกรสวนผักชะอำ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และอีกครอบครัวหนึ่งเป็นเกษตรกรเดิมที่อาศัยที่ทำกินในเขตโครงการ โดยจัดที่ดินให้ครอบครัวละ 25 ไร่ จัดให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน 25 ไร่ มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้วางแผนการปลูก และกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ให้เกษตรกรทั้ง 2 ครอบครัว กู้ยืมเงินเป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพครอบครัวละ 10,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้เพื่อหาข้อมูลทางด้านต่างๆ เช่น ในด้านรายได้ รายจ่าย ความเหมาะสมของการใช้แรงงานในครัวเรือนกับขนาดของพื้นที่ที่จัดให้การปลูกพืช ใช้น้ำชลประทาน การปลูกพืชอาศัยน้ำฝน ตลอดจนการจัดบริการในด้านสินเชื่อ และการตลาด รวมทั้ง ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การเกษตร ปัญหาด้านสังคมของเกษตรกรประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงเพื่ออพยพครอบครัวของเกษตรกรที่เหลือเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านบ้านเกษตรกรต่อไป ภายหลังเมื่อครบปีการผลิต เกษตรกรทั้ง 2 ครอบครัว สามารถใช้หนี้คืนแก่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และยังมีเหลือเป็นทุนสำรองสำหรับการประกอบอาชีพในปีต่อไป เมื่อได้รับข้อมูลจากครอบครัวเกษตรกรตัวอย่างทั้ง 2 ครอบครัวแล้ว ในปี พ.ศ. 2511 จึงอพยพครอบครัวเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้นที่เหลืออีก 82 ครอบครัว และเกษตรกรที่เข้ามาทำประโยชน์อยู่เดิมอีก 46 ครอบครัว เข้าอาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ที่จัดสรรให้ครอบครัวละ 25 ไร่ จัดให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน 7 ไร่ และอีก 18 ไร่ ให้ปลูกพืชไร่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ และโครงการได้ให้กู้ยืมเงินครอบครัวละ 6,000 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกบ้านเรือน 1,500 บาท ส่วนที่เหลืออีก 4,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุการเกษตร และค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 6 การอพยพครอบครัวเกษตรกรเหล่านี้ได้จัดให้สร้างที่อยู่อาศัยรวมเป็นหมู่บ้านเกษตรกรขึ้นโดยมีทางราชการคอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำการบริหารงานของหมู่บ้านตัวอย่างให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่วางไว้ขณะเดียวกันได้มีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการของสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจได้ดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด กับได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน 3 ฉบับ รวมพื้นที่ 12,079 – 1 – 82 ไร่ ให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา