เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 สำนักงานป่าไม้เขตลำปาง (เดิม) ได้ใช้พื้นที่สวนรุกขชาติพระบาทแห่งนี้ จัดกิจกรรมปลูกป่าแบบประชาอาสา เนื่องในวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ในพื้นที่ที่ถูกราษฎรบุกรุกถือครองมาดำเนินการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าให้คืนคงเดิม และนายปรีดา ไชยานุวงศ์ ป่าไม้เขตลำปางในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีทัศนียภาพที่สวยงาม สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้หลากหลายขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วไป มีจุดเด่นเป็นที่เคารพสักการะของพี่น้องชาวจังหวัดลำปางและพื้นที่ใกล้เคียง คือ ศาลเจ้าพ่อ โรงดอย อยู่ใกล้แหล่งชุมชนเมือง ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดลำปางเพียง 1 กิโลเมตรเศษ การคมนาคมสะดวก จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งสวนรุกขชาติต่อกรมป่าไม้ พร้อมของบประมาณในการดำเนินงาน และในวันที่ 19 กันยายน 2540 กรมป่าไม้ได้ให้ความเห็นชอบกับโครงการที่ป่าไม้เขตลำปางเสนอ
และในเวลาต่อมากรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณมาให้สำนักงานป่าไม้เขตลำปางดำเนินการ ในการจัดตั้งสวนรุกขชาติพระบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่มีค่าหายาก พืชที่ใกล้สูญพันธุ์ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร พืชกินได้ และพืชให้สีย้อมผ้า พืชป่าให้ดอกสวยงาม ไม้ประดับ ไม้ในพุทธประวัติ พรรณไม้มงคลประจำจังหวัด และสวนรวมพรรณไม้ในวรรณคดีของไทย ฯลฯ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิจัยในทุกสาขาวิชาทางพฤกษศาสตร์ เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อการบริการ ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปได้ศึกษาหาความรู้ด้านป่าไม้ ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่แห่งนี้ให้คงอยู่ตลอดไป
ทั้งนี้กรมป่าไม้ได้พิจารณาเห็นชอบให้จัดตั้ง สวนรุกขชาติพระบาท ท้องที่ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 1,379 ไร่ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2540 และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 กรมป่าไม้ได้อนุมัติให้ป่าไม้เขตลำปางขยายพื้นที่สวนรุกขชาติพระบาทเพิ่มเติมอีกประมาณ 741 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 2,120 ไร่
เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่มีค่าหายาก พืชที่ใกล้สูญพันธุ์ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร