สะพานวุฒิกุล ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายอุทัย วุฒิกุล (อธิบดีกรมทางหลวงท่านที่ 10) ซึ่งเป็นนายช่างใหญ่ผู้ควบคุมงาน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิง ที่ อ.วังเจ้า จังหวัดตาก ในเส้นทางหลวงหมายเลข 104 ต่อเชื่อมทางหลวงหมายเลข 1 ก่อสร้างแบบ ตอม่อกลางสะพานโค้งคอนกรีตเสริมเหล็กแบบคันธนู ช่วงยาวประมาณ 50 เมตร ซึ่งเป็นแบบถัง (caisson) หรือเป็นวิธีการก่อสร้างที่เรียกกันว่า “จมบ่อ” ได้ถูกกระแสน้ำพัดพาหกคะเมนล้มเลื่อนหายไป เพราะน้ำไหลเชี่ยวมากและบริเวณฐานรากเป็นทรายล้วนๆ ทับถมอยู่บน bed rock ซึ่งเอียงเทมาก ดังนั้น ผู้รับเหมาชื่อ อิมเปรสซิเตอร์ อิจาเลียเน่ เป็นบริษัทอิตาเลียน ได้เสนอขอสร้างสะพานช่วงประมาณ 101 เมตร แทน โดยทิ้งตอม่อที่หลุดลอยออกไปเลย แต่แบบสะพานก็ยังคงเป็นสะพานโค้งคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดคันธนูเช่นเดิม และได้กำหนดแผนงานก่อสร้างโดยสร้างนั่งร้านเป็นโครงไม้โค้งแบบ three-hinged arch เพื่อรองรับตัวโค้ง (arch rib) และทำหน้าที่เป็นโครงสร้างเพื่อห้อยนั่งร้านแบบหล่อตัวพื้นสะพานด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายและเสียใจที่สะพานโค้งช่วง 101 เมตร นี้ ต้องมีอันเป็นไป ได้พังทลายลงในขณะที่ยังห้อยนั่งร้านตัวพื้นสะพานไม่แล้วเสร็จ สะพานแห่งนี้ได้ถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพนั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่งเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2496 จึงได้รับการก่อสร้างใหม่โดยใช้สะพานโค้งคอนกรีตเสริมเหล็กแบบเดิม ช่วงประมาณ 50 เมตร เช่นเดิม เป็นแต่ว่าตัวตอม่อได้รับการออกแบบใหม่เป็นตอม่อวางอยู่บนกลุ่มเสาเข็มแทน ส่วนการก่อสร้างสะพานโค้งช่วง 50 เมตร มีเทคนิคพิเศษโดยการอัดแรงดันที่ยอดโค้ง ซึ่งก็เป็นวิธีการอันหนึ่งที่จะช่วยลดแรงถีบของโค้งและบิดตัวพื้นสะพานให้ โก่งขึ้น อันจะเป็นการบรรเทาภาระของตัวคานรับพื้นสะพานให้น้อยลง สะพานวุฒิกุล ยังคงรับใช้การจราจรอยู่จนทุกวันนี้
สะพานเหล็ก จุดชมวิว
สะพานวุฒิกุล – สะพานวังเจ้า