หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ ตั้งอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว เดิมชาวไทดำอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด ปัจจุบันยังมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำ มีบ้านที่สร้างขึ้นตามแบบเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวไทดำ
ไทดำ บ้านนาป่าหนาด เป็นกลุ่มชาวไทกลุ่ม หนึ่งที่เคยตั้งอยู่ในเมืองไทดำ บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงในเขตเวียดนามเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2425 สมัยสงครามฮ่อ และหลังจากสงครามยุติลง ไทดำส่วนหนึ่งจึงได้อพยพผ่านเข้ามาสู่ประเทศไทย และอาศัยอยู่ที่บ้านนาป่าหนาด จังหวัดโดย ไทดำที่อพยพเข้ามายังที่แห่งนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นไทดำชนชั้นราชวงศ์แทบทั้งสิ้นอีกด้วย
เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง นอกจากการเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวไทดำที่สร้างมากว่าร้อยปีแล้วนั้น จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะกันก็คือ “หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ บ้านนาป่าหนาด หมู่ที่ 4 ที่นี่เราจะพบกับบ้านจำลองที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของชาวไทดำในอดีต โดยบันไดบ้านด้านหน้า จะขึ้นได้แต่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น เมื่อขึ้นไปแล้วห้องแรกจะเป็นห้องของผีเรือน ผีปู่ย่า ที่ชาวไทดำนับถือ ถัดมาเป็นห้องโล่งและมีพื้นที่กว้างสุดในบ้าน ใช้สำหรับเป็นห้องนอน โดยในห้องนี้จะมีเตาไฟวางไว้ปลายเท้าของเจ้าบ้าน ถัดไปซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของตัวบ้าน จะเป็นที่ประกอบอาหาร โดยมีบันไดที่ใช้เป็นทางขึ้นลงสำหรับผู้หญิงชาวไทดำด้วย
นอกจากนี้บริเวณใต้ถุนบ้านที่ศูนย์วัฒนธรรม ยังมีกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำนั่งรวมตัวกันทำผ้าทอมือแบบโบราณ หลังจากการทำนา เพาะปลูก ให้ได้ชมกันอีกด้วย ซึ่งไม่ควรพลาดชมเลยทีเดียว เพราะผ้าทอมือหรือที่ชาวไทดำเรียกว่า “ซิ่นนางหาญ” มรดกตกทอดที่ทำสืบต่อกันมากว่า 100 ปีนั้น มีลวดลายที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก
คำว่า “นางหาญ” ที่ชาวไท เรียกกันนั้น หมายถึงความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว นั่นเอง
นอกจากนี้ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯแล้ว ยังมีผังตัวอักษรไทดำที่เขียนบันทึกไว้สำหรับให้ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวได้ศึกษา พร้อมทั้งซื้อหาของฝากฝีมือกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำ เช่น ผ้าทอมือ สบู่สมุนไพร ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากไหมพรมหลากสี ติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนทางบ้านในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย