อาคารเรือนแพขาว

สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๐ ในคราวเดียวกันกับการย้ายส่วนราชการ จากบ้านโคกชะพลู มายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางปรอก  เดิมเป็นส่วนหนึ่งของจวนข้าหลวง ใช้เป็นเรือนรับแขก ลักษณะเป็นอาคารไม้รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทาสีขาว ทรงมะนิลานิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ แต่ก่อนมีลวดลายฉลุไม้แบบหยาดน้ำฝนรอบเชิงชาย และมีลายฉลุไม้เป็นลายนกกระจาบช่องลมเหนือ ประตูห้องสวยงาม ระหว่างห้องพักกับห้องโถงเป็นเรือนรับรองแขก ตัวอาคารโปร่งรับลม หันหน้าออกสู่แม่น้ำ
อาคารเรือนแพขาว มีประวัติในการใช้เป็นที่รับรองบุคคลสำคัญมาแล้วในอดีต เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒  รัฐบาลแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  ขณะนั้นรัฐบาลไทยได้ร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพขึ้นบกผ่านประเทศไทย และสงครามมหาเอเชียบูรพากำลังรุนแรงขึ้นอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างสงครามเวลานั้นหลวงอุตรดิตถาภิบาล (เนื่อง ปาญิกบุตร)  เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดปทุมธานีคนที่ ๑๓  จึงย้ายที่ทำการศาลากลางจังหวัด ไปอยู่ที่วัดชินวรารามวรวิหาร  ตำบลขะแยง  อำเภอเมืองปทุมธานี เป็นการชั่วคราว ส่วนแพขาวนั้น พลโทพระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาญิกบุตร)  อพยพหนีภัยสงครามออกจากกรุงเทพฯ มาพักอาศัยอยู่เพื่อบัญชาการสอดส่องควบคุมดูแลความเคลื่อนไหวของกองทัพญี่ปุ่น แล้วจึงย้ายกลับเข้ากรุงเทพฯ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ พร้อมด้วยพระอนุชา (รัชกาลที่ ๙ ) เสด็จประพาสเยี่ยมทุกข์สุขราษฎรในจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  พระองค์ทรงประทับ ณ แพขาว ทรงทอดพระเนตรการแข่งขันเรือหน้าพระที่นั่งที่เรือนแพขาว เป็นเรือวัดหงษ์ปทุมาวาส ๓ ลำ  เรือปราบนาวา และเรือชัยนาวาเป็นผู้ชนะ ผู้เข้าแข่งขันเรือได้รับพระราชทานรางวัลเป็นผ้าขาวม้า คนละ ๑ ผืน ครั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับเพียงเดือนเดียวก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙)
และเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ เพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา ณ เรือนแพขาว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินยังจังหวัดปทุมธานี

ข้อมูลเพิ่มเติม

มีห้องซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อให้ประชาชนสักการะ

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด