อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นแหล่งอนุรักษ์โบราณสถานและแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ
รวมทั้งให้บริการด้านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและวิชาการโบราณคดี ของจังหวัดกำแพงเพชร
ทั้งนี้เพื่อเป็นการธำรงรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ยั่งยืนสืบไป
กำแพงเพชรเป็นเมืองโบราณที่ปรากฏหลักฐานไม่น้อยกว่า 500 ปี ตัวเมืองตั้งอยู่ริมฝั่งของแม่น้ำปิง
ภายในเมืองและนอกเมืองกำแพงเพชรมีโบราณสถานขนาดใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก
โดยมากเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์
กลางเมืองมีวัดพระแก้ว วัดพระธาตุเป็นศูนย์กลาง มีลักษณะเป็นวัดหลวงที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส
ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้วเป็นบริเวณที่เรียกว่า สระมน (วังโบราณ)
และเทวสถานศาลพระอิศวรซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา
บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศเหนือ มีกลุ่มโบราณสถานประมาณ ๔๐ แห่ง
สร้างอยู่บนเนินเขาลูกรัง จัดเป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร
นับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองกำแพงเพชร
ด้วยโบราณสถานสร้างรวมกลุ่มกันหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน
โบราณสถานมีขนาดใหญ่ ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
มีความงดงามทางศิลปกรรมของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรควบคู่กันไป
โบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดฆ้องชัย
วัดนาคเจ็ดเศียร วัดสิงห์ วัดช้างรอบ และวัดอาวาสใหญ่
บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงหรือฝั่งตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร
เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ ชื่อว่า เมืองนครชุม
ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยู่ตรงบริเวณปากคลองสวนหมาก
กลุ่มโบราณสถานสำคัญตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้
ห่างจากแนวกำแพงเมืองประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นกลุ่มวัดในเขตอรัญญิกของเมืองนครชุม
ได้แก่ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ และวัดหนองลังกา
กรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี
คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก
ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองกำแพงเพชร ร่วมกับเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย
เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า ทั้งทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรม
ภูมิปัญญาการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง
รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของแท้ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชน
ตลอดจนโบราณสถานรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณป่าธรรมชาติ
ซึ่งยังคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด