อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2517 จังหวัดพังงาได้เสนอพื้นที่บริเวณถ้ำลอด เกาะปันหยี และเขาพิงกัน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยานโดยใช้ชื่อว่า “วนอุทยานศรีพังงา” ต่อมากรมป่าไม้ได้ให้ นายสมบูรณ์ วงศ์ภักดี นักวิชาการป่าไม้ 4 ดำเนินการสำรวจบริเวณอ่าวพังงาเพิ่มเติม และได้มีการดำเนินการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1 – 3 เล่มที่ 98 ตอนที่ 64 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2524 ภายใต้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติ อ่าวพังงา” มีเนื้อที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลน ผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์คงสภาพธรรมชาติดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่เขตอำเภอเมืองพังงา เลียบตามชายฝั่งจนถึงเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง และพื้นน้ำในท้องทะเลอันดามันมีพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาทั้งหมด
ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ ประมาณ 51 เกาะ เช่น เกาะเต่า เกาะพระอาดเฒ่า เกาะมะพร้าว เกาะโบยน้อย เกาะโบยใหญ่ เกาะรายาหริ่ง เกาะพนัก เกาะห้อง เขาพิงกัน ฯลฯ ซึ่งในแต่ละเกาะก็มีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกันและมีความสวยงามเฉพาะตัว
เนื่องจากบริเวณนี้โครงสร้างและสัณฐานของพื้นที่อยู่ใกล้กับแนวเขาหินแกรนิตที่เรียกว่า “ทิวเขาตะนาวศรีและทิวเขาภูเก็ต” อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนภาคใต้ฝั่งตะวันตก ไทย – พม่า ที่ทอดยาวไปจนถึงพังงา – ภูเก็ต เป็นทิวเขาที่เกิดในยุคครีตาเซียส ยุคเทอร์เชียรีตอนต้น อายุประมาณ 136 ล้านปีมาแล้ว จะปรากฏเห็นภูเขาหินตะกอน หินแปรแทรกสลับอยู่เป็นแนว และยังมีภูเขาหินปูนแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป
สภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมยังทำให้เกิดเป็นถ้ำโพรงอีกมากมาย การยุบตัวของแผ่นดินทางด้านทิศตะวันตกทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระเว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะ มีภูเขาหินปูนลูกโดดกระจายอยู่มากมายทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม โดยบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงามีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เช่น เขาตาปู เขาพิงกัน ถ้ำลอด เกาะปันหยี เขาเขียน เขาหมาจู เกาะพนัก และเกาะห้อง ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลเพิ่มเติม

ความงดงามของทิวทัศน์ชายฝั่งและทิวทัศน์เหนือผิวน้ำ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าชายเลน มีภูเขาหินปูนโผล่อยู่กลางน้ำกระจายทั่วบริเวณ ลักษณะสวยงามโดดเด่น รูปร่างแปลกตามากมาย แต่ละเกาะมีสภาพแตกต่างกันไปและมีความสวยงามเฉพาะตัว

Facebook

Aophangnga

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด