เดิมเกาะสีชังเป็นกิ่งอำเภอขี้นกับอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 กิ่งอำเภอเกาะสีชังถูกโอนย้ายมาขึ้นกับอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 เกาะสีชังเป็นเกาะที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เนื่องจากเคยเป็นสถานที่เสด็จประพาสและเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินของกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เกาะสีชังได้ชื่อว่าเป็นภูมิสถานที่มีอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม ประกอบกับอยู่ไม่ไกลเมืองหลวงมากนัก บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป ตลอดจนชาวต่างประเทศ จึงนิยมมาพักผ่อน พักฟื้นและรักษาตัวกันเป็นจำนวนมาก ในอดีตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเกาะสีชังอยู่เนืองๆ ทรงมีพระราชดำรัสสรรเสริญเกาะสีชังว่าเป็นสถานที่ที่อากาศดี ดังนั้น ผู้ที่อยู่บนเกาะจึงมีอายุยืนนานปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ข้อมูลทั่วไป เกาะสีชัง ตั้งอยู่บริเวณก้นอ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ 7.9 ตร.กม. มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี อยู่ห่างจากฝั่งอำเภอศรีราชา ประมาณ 12 กม. ระยะเวลาเดินเรือของเรือโดยสารใช้เวลา ประมาณ 45 นาที ช่วงร่องน้ำทะเลระหว่างฝั่งที่ศรีราชาและเกาะสีชัง เป็นที่จอดพักทอดสมอของเรือสินค้านานาชาติ เพื่อขนถ่ายส่งสินค้ามากมาย เกาะสีชังมีเกาะบริวารรวม 8 เกาะ คือ 1. เกาะขามใหญ่ 2. เกาะขามน้อย 3. เกาะปรง 4. เกาะร้านดอกไม้ 5. เกาะสัมปันยื้อ 6. เกาะยายท้าว 7. เกาะค้างคาว 8. เกาะท้ายตาหมื่น ในบรรดาเกาะบริวารของเกาะสีชังทั้งหมด มีเพียงเกาะขามใหญ่ที่มีประชาชนปลูกบ้านอยู่เป็นหมู่บ้าน ส่วนเกาะค้างคาวจะมีเพียงรีสอร์ทไว้บริการนักท่องเที่ยวเท่านั้น เกาะอื่นๆ ที่เหลือ ไม่มีประชากรอาศัยอยู่ เพราะเป็นเพียงเกาะเล็กๆ ที่เหมาะแก่การตกปลาเท่านั้น บนเกาะเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนนานนับร้อยปี มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตลอดจนมีปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ท่าเทียบเรือ โรงพยาบาล สถานที่พักตากอากาศ และหน่วยงานราชการอื่นๆ หลายหน่วยงานตั้งอยู่ เกาะสีชัง เป็นเกาะที่น่าท่องเที่ยวในบรรยากาศแบบท้องถิ่นซึ่งสามารถแวะท่องเที่ยวในวันเดียวหรือพักค้างคืนก็ได้ ในอดีตเคยรุ่งเรืองมาก่อน มีพระราชวังจุฑาธุชที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่สร้างให้เป็นอนุสรณ์แก่พระราชโอรสเจ้าฟ้าจุฑาธุชที่ประสูติบนเกาะสีชัง ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์ ชุมชนเกาะสีชังอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ เป็นที่ตั้งของท่าเรือเทววงษ์ (ท่าล่าง) และท่าภาณุรังษี (ท่าบน)