ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณ ป่าภูเมี่ยงและภูทอง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 94 ตอนที่ 137 เมื่อวันที่ 31 เดือนธันวาคม พ.ศ.2520 มีพื้นที่ประมาณ 340,625 ไร่
ในขณะนั้นพื้นที่ป่าภูเมี่ยงและภูทอง ยังมีสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ การดำเนินงานจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทองในเบื้องต้น จึงไม่สามารถกระทำการได้โดยสะดวก
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 สถานการณ์ในพื้นที่ได้คลี่คลายลง ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามอบตัวกับทางการ และร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย
ในปีพ.ศ. 2526 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง เริ่มได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง บริเวณบ้านโคกผักหวาน ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าในสังกัดเป็นลำดับเรื่อยมา
ในช่วงปีพ.ศ. 2525 กองทัพภาคที่ 3 ได้ขอกันพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง ส่วนหนึ่งให้ชาวเขาเผ่าม้งที่เคยปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอชาติตระการและมอบตัวกับทางราชการเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำกิน โดยจัดตั้งเป็น 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านน้ำคับ และหมู่บ้านน้ำจวง จำนวนประชากรประมาณ 2,126 คน 263 ครอบครัว มีพื้นที่ 10,313 ไร่ โดยพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทองลดลงเหลือประมาณ 330,267.32 ไร่
หลังจากนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง ได้สำรวจพื้นที่ป่าใกล้เคียงที่มีความสมบรูณ์ เพื่อผนวกเข้าเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เพิ่มเติมตามขั้นตอน และประกาศในพระราชกฤษฎีกา เล่มที่ 109 ตอนที่ 42 ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2535 รวมเป็นเนื้อที่โดยประมาณ 435,320 ไร่ หรือ 696.51 ตารางกิโลเมตร สถานภาพของพื้นที่จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ เป็นเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) ทั้งหมด เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 5 ป่า คือ 1. ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำภาคน้อย บางส่วน 2. ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงตีนตก บางส่วน 3. ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองตรอนฝั่งขวา บางส่วน 4. ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำภาคฝั่งขวา บางส่วน 5. ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำน้ำปาด บางส่วน
หน้าผาสูงชัน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง