เขาพระเมิน เป็นภูเขาสูงใหญ่ เป็นจุดที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของจังหวัดตาก ด้วยความสูง 1,774 ฟุต จากพื้นดินเมืองตาก มีพื้นที่ครอบคลุม 3 ตำบล คือ ตำบลวังหิน ตำบลตลุกกลางทุ่ง และตำบลน้ำรึม
บนยอดเขาเรียกว่า ยอดเขาพระ อยู่คู่กับเมืองตากมาเป็นเวลาช้านาน เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านไป หลวงพ่อตุ่นพุทธสาโร เจ้าอาวาสวัดเชียงทอง ได้นำคณะผู้มีจิตศรัทธาธรรมขึ้นไปปฏิบัติธรรม ณ ยอดเขา พร้อมทั้งนำพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐสถานไว้ และจัดพิธีสรงน้ำพระเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันนี้เหลือเพียงพระพุทธรูปปั้น พระไม้แกะสลัก จำนวน 2 องค์
ต่อมาปี พ.ศ. 2531 – 2535 นายหลี ขำมี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลตลุกกลางทุ่ง ได้นำชาวบ้านที่ศรัทธาในพระธรรม นำพระพุทธรูปและสร้างกุฎิไว้บนยอดเขาพระ เพื่อให้พระภิกษุพักแรมอาศัยจำวัด และได้จัดประเพณีสรงน้ำพระขึ้นบนยอดเขาพระเมิน เมื่อปี พ.ศ. 2535 แต่ประเพณีสรงน้ำพระก็หายไป เนื่องจากไม่มีผู้ใดมาสืบสานต่อ
และในปี พ.ศ. 2536 ภูเขาพระเมิน มีผู้บุกรุกและทำลายป่าเป็นจำนวนมาก ได้มีการขอทำสัมปทานเหมืองหินบริเวณยอดเขาพระ ซึ่งผู้นำชุมชนในตำบลวังหิน ตำบลตลุกกลางทุ่ง และตำบลน้ำรึม ในขณะนั้นได้ร่วมกับชาวบ้านคัดค้านไม่ให้มีสัมปทานทำเหมืองหินและทำลายป่า
เมื่อปี พ.ศ. 2540 นางเฉลียว แก้วบวรรัตน์ ราษฎรตำบลวังหินได้เขียนหนังสือทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารกาชาด ณ ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก พระองค์ได้ทรงตรัสสั่งระงับโครงการสัมปทานทำเหมืองหินบริเวณเขาพระเมิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศให้ เขาพระเมิน เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จุดชมวิว 360 องศา