แหล่งโบราณคดีเวียงเจ้าเงาะ

ภูมิประเทศของเวียงเจ้าเงาะนั้นเป็นที่ราบดินปนศิลาแลง บางตอนเป็นศิลาแลงล้วน ด้านทิศเหนือติดต่อกับหนองพระแลและหนองพระทัยอันเป็นที่ลุ่ม ปัจจุบันคันคูเมืองส่วนที่ขุดลงไปในศิลาแลงบางตอนตื้นเขินมาก ส่วนคันคูเมืองด้านที่เป็นคันดินถูกราษฎรบุกรุกทำลาย พื้นที่ในบริเวณคูเมืองด้านในและในคูเมืองมีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นรก บางส่วนของพื้นที่ในบริเวณเวียงเจ้าเงาะมีราษฎรจับจองปลูกพืชทำมาหากิน แม้ว่าจะเป็นบริเวณที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแต่ไม่มีผู้รับผิดชอบดูแลอย่างใกล้ชิดนับวันจะเสื่อมโทรมไป เวียงเจ้าเงาะยังไม่มีการสำรวจขุดค้นเพื่อการศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้นว่า ความเป็นมาอย่างไร แต่ถึงแม้กรมศิลปากรยังมิได้ขุดค้นพบเพิ่มเติม แต่มีตำนานที่สืบต่อกันมาเล่าขานกันว่า เวียงเจ้าเงาะมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง เช่นเดียวกับเมืองศรีสัชนาลัยของจังหวัดสุโขทัย โดยสังเกตเห็นได้จากพระบรมธาตุเมืองทุ่งยั้งในอดีตมีทรงเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ปัจจุบันได้บูรณะซ่อมแซมเป็นทรงลังกาครอบทรงเดิมเอาไว้ในรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 5 สุโขทัย ได้ให้ความเห็นว่า ในสมัยที่สุโขทัยเป็นราชธานีของไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 นั้น ได้สร้างเวียงเจ้าเงาะเป็นหน้าด่านของเมืองลูกหลวงคือศรีสัชนาลัย อีกชั้นหนึ่งเมืองหนึ่งทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขุดคันดินเข้าไปในชั้นศิลาแลงเป็นแนวกำแพงเมือง ทำให้มีลักษณะแปลกประหลาดกว่าเมืองโบราณอื่นใด ซึ่งครั้งหนึ่งทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตร และมีพระราชอรรถาธิบายเอาไว้ทั้งสองพระองค์เกี่ยวกับกำแพงเมืองของเวียงเจ้าเงาะแห่งนี้

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด