โบราณสถานวัดพลับบางกะจะ

เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองจันทบุรี สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2300 มีชื่อเดิมว่าวัดสุวรรณติมพรุธาราม แปลว่าอารามที่มีผลมะพลับทอง แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดพลับ กองทัพของพระเจ้าตากสินได้แวะพักที่วัดนี้ก่อนเข้าตีเมืองจันทบุรี พระองค์และแม่ทัพนายกองได้รับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์และรับถวายพระยอดธง ต่อมามีชื่อเสียงโด่งดังจนมีคำพูดในหมู่นักเลงพระว่า พระยอดธงดีต้องพระยอดธงวัดพลับบางกะจะ น้ำพระพุทธมนต์ที่ประกอบพิธีที่วัดพลับ ถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ จะต้องประกอบด้วยน้ำพระพุทธมนต์จากวัดพลับนี้ด้วย โดยนำน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ถ้ำพระนารายณ์ ต.คลองนารายณ์ อ.เมืองจันทบุรี และจากสระเเก้ว ที่วัดสระเเก้ว ต.พลอยแหวน อ.ท่าใหม่ มารวมกันทำพิธีสวด ปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนไว้ในวัดพลับนั้นได้แก่……… 1. วิหารไม้ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา รูปทรงเป็นอาคารไม้สี่เหลี่ยมจตุรัส 2. หอไตร มีรูปทรงเป็นหอไตรขนาดกลาง สร้างอยู่ในสระน้ำ 3. พระปรางค์ สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2441 ประกอบด้วยองค์ปรางค์ มีซุ้มประตู 4 ทิศ เหนือประตูเป็นรูปราหูอมจันทร์ ตัวปรางค์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ 2 ขั้น มีบันไดทางขึ้น 4 ทาง ส่วนยอดปรางค์มีการซ้อนขั้น มีชั้นเชิงบาตรรองรับตัวปรางค์ขนาดเล็ก มีรูปปั้นเศียรช้างประดับทั้ง 4 ทิศ ลักษณะยอดบนซึ่งเป็นยอดปรางค์และตรีศูลเป็นลักษณะที่ไม่ได้พบกันมากในภาคตะวันออก 4. โบสถ์ เป็นโบสถ์ที่ใช้ในการประกอบน้ำพระพุทธมนต์สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ตัวโบสถ์มีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบันจึงมีลักษณะเหมือนโบสถ์ทั่วไป 5. เจดีย์กลางน้ำ เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่ออิฐหินปูน สูงประมาณ 7 เมตรไม่ประดับกระเบื้อง ยกฐานสูงตัวองค์ระฆังขนาดเล็ก มีส่วนประกอบแบบเจดีย์ทรงกลมทั่วไป ลักษณะศิลปะแบบอยุธยาตอนกลาง ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2481 นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน อันได้แก่ เมรูเผาศพซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า สำซ่าง สร้างด้วยไม้ เป็นรูปทรงสูง ประกอบด้วยเสาไม้กลมสี่ต้นรองรับหลังคาเหลี่ยม ย่อขึ้นไป 5 ขั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ปลายยอดแหลม ด้านหน้ายังมีอาคารเป็นศาลาโถงอีกหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างคู่กันมา ในปี พ.ศ.2542 ถูกพายุฝนพัดลงมากองกับพื้นแล้วเหลือแต่ศาลาโถงเท่านั้น

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด