ตั้งอยู่ที่บ้านโคกวัด ตำบลโคกปีบ เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน มีเนื้อที่ประมาณ 700ไร่ ลักษณะของเมืองมีคูเมือง และคันดินกำแพงเมืองล้อมรอบคูน้ำ ภายในเมืองมีโบราณสถาน เนินดิน สระน้ำ บ่อน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปกว่า 100แห่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบมักจะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู เช่น เทวาลัย เทวรูป ศิวลึงค์ โบราณสถานที่สำคัญในเมืองศรีมโหสถประกอบด้วย กลุ่มโบราณสถานกลางเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18เป็นหมู่เทวาลัย ฐานก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่อด้วยอิฐ ด้านหลังมีบ่อน้ำก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 โบราณวัตถุที่ขุดพบ ได้แก่ เทวรูปต่าง ๆ และเศษเครื่องปั้นดินเผา สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์รูปกลม ลักษณะเหมือนโอคว่ำ สมัยทวารวดี โบราณสถานหมายเลขที่ 25 เป็นเทวาลัย รากฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-12โบราณสถานสระแก้ว ตั้งอยู่นอกเมืองศรีมโหสถไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นสระน้ำโบราณขนาดกว้างประมาณ 18 เมตร ขุดลงไปในชั้นของศิลาแลงธรรมชาติ ตัวสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ทางด้านทิศตะวันตกมีทางลงทำเป็นขั้นบันไดกว้าง 4เมตร ความยาวทางลง 13.60 เมตร ผนังขอบสระทุกด้านมีการแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น รูปช้าง มกร (มะกอน, มะกอระ หรือมะกะระ หมายถึง มังกร) สิงห์ หมู กินรี งูพันเสา สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ชั้นสูง สันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของ กษัตริย์เมืองศรีมโหสถ อายุราวพุทธศตวรรษ ที่ 10-11 หลวงพ่อทวารวดีเป็นพระพุทธรูปเก่าสมัยทวารวดี ปางแสดงธรรม สูง 2 เมตร งานช่างแบบทวารวดี อายุราว พ.ศ. 1300-1500 ขุดพบที่นิคมโรคเรื้อน โรงพยาบาลคามิลโล อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่หอพระหน้าที่ว่าการอำเภอศรีมโหสถ ส่วนฐานพระพุทธรูปสลักหินชิ้นเดียวกับองค์พระเป็นรูปกลีบบัวหงาย พระบาท และข้อพระบาทสลักนูนสูงอิงติดกับแผ่นหลัง ช่วยถ่ายเทน้ำหนักให้ชำรุดยากยิ่งขึ้น องค์พระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว แนบพระวรกาย ชายจีวรด้านหน้าห้อยตกลงมาเป็นรูปวงโค้ง ตามอย่างที่ปรากฏอยู่เสมอในงานช่างทวารวดี พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงเป็นสันหนาต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกใหญ่ ฝีพระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาใหญ่ มีพระอุษณีษะโป่งนูนเล็กน้อย ตามอย่างงานช่างทวารวดีพื้นเมือง พระกรทั้งสองข้างยื่นออกมาจากพระองค์เล็กน้อยตามข้อจำกัดเรื่องขนาดหินที่นำมาสลัก ทำให้นิ้วพระหัตถ์ไม่สามารถแสดงอากัปกิริยาได้อย่างอิสระเท่ากับศิลปะต้นแบบในชมพูทวีป จนดูคล้ายกับผิดสัดส่วน การแสดงวิตรรกะมุทรา คือปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ เป็นลักษณะที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในงานช่างอุษาคเนย์ช่วงก่อน พ.ศ. 1500 แต่นิยมมากที่สุดในงานช่างแบบทวารวดี