บ้านน้ำเชี่ยว เป็นชุมชนชาวพุทธ-มุสลิมที่มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา และเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ กว่า 2,000 ไร่ … ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวตั้งอยู่บนที่ลุ่ม เป็นทุ่งนา พื้นที่บางส่วนอยู่ติดทะเล มีป่าชายเลนมาก มีคลองน้ำเชี่ยว ซึ่งเป็นคลองขนาดกว้างไหลผ่าน มีต้นน้ำอยู่ที่เขาแดง พอถึงฤดูน้ำหลาก น้ำในคลองจะไหลเชี่ยวมาก ชาวบ้านจึงพากัน เรียกว่า คลองน้ำเชี่ยว ชาวบ้านดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นคนไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ ต่อมาได้มีชาวจีนเดินทางมาค้าขายทางเรือเห็นว่าบริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ จึงได้มาตั้งถิ่นฐานบ้างและแต่งงานกับคนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะประกอบอาชีพค้าขายกันบริเวณริมถนน ในสมัย รัชกาลที่ 3 ได้มีแขกจามอพยพมาจากกัมพูชา มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมคลอง ชุมชนน้ำเชี่ยวก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้น ชาวบ้านที่นี่จึงมีทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลาม อาชีพหลักของชาวบ้าน ได้แก่ การทำนา ทำสวนยาง และการประมง บ้านน้ำเชี่ยวเป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่บริเวณปากคลองน้ำเชี่ยว ซึ่งใกล้กับทะเล จึงมีท่าเรือค้าขายและมีสำเภามาค้าขายเป็นประจำ สินค้าที่ซื้อขายกันเป็นประจำคือเกลือและน้ำตาลที่ซื้อจากเรือสินค้าจากชลบุรี
เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต, ชุมชนป่าชายเลน, การทำประมงพื้นบ้าน
กลุ่มท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว