ไร่เชิญตะวัน “ธรรมมะ และทำกิน” สองคำ สองความหมาย อธิบายได้เป็นอย่างดีถึงความเป็นไร่เชิญตะวัน ที่ท่าน ว.วชิรเมธี พระนักคิดนักปฏิบัติ ที่เข้าไปสร้างเป็นศูนย์วิปัสสนาสากล บนเนื้อที่ 207 ไร่ ที่บ้านใหม่สันป่าเหียง ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย ติดอ่างเก็บน้ำห้วยสัก
แต่เดิมเป็นพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ของลูกศิษย์ของท่านว.วชิรเมธี และมีจิตศรัทธาถวายให้กับท่าน เพื่อให้ใช้เป็นที่ปลีกวิเวก ศึกษาและปฏิบัติธรรม เพราะช่วงก่อนหน้านั้น ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ไปปฏิบัติธรรมปักกลดปลีกวิเวกอยู่บนเขาที่อยู่ใกล้ๆ กับไร่ลิ้นจี่ดังกล่าวทุกเดือน และมักจะมีผู้คนมาหา มีชาวบ้านมาขอหวย ซึ่งไม่ใช่อย่างที่ท่านตั้งใจไว้
พอเจ้าของไร่ลิ้นจี่ถวายที่ดินให้ ท่านจึงเข้ามาใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรมและปลีกวิเวก ก่อนที่จะปรับปรุงและพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม ด้วยความคิดว่า เมื่อที่นี่มีความสงบเหมาะจะปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงน่าจะเปิดให้ผู้คนทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชมและสามารถมาปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมะไปในคราวเดียวกัน และให้ชื่อว่า “ไร่เชิญตะวัน” หมายถึง “เชิญธรรมะมาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต” ธรรมะเป็นดั่งดวงตะวัน เมื่อดวงตะวันอุทัยขึ้นมาความมืดก็อันตรธานไปฉันใด เมื่อธรรมะอุบัติขึ้นมาในใจของผู้ใด ความหลงก็ปลาสนาการไปฉันนั้น ไร่เชิญตะวันจึงเป็นดั่งรมณียสถานในการฝึกตนเพื่อก้าวพ้นจากความมืดมนของชีวิตและบรรลุสู่ภาวะ “โชติช่วงดั่งดวงตะวัน”
ส่วนของพื้นที่ปลูกลิ้นจี่นั้น ท่านว.วชิรเมธี นั่งสมาธิแล้วเห็นว่าอันตราย เพราะมีการใช้สารเคมีเยอะมาก จึงได้ปรับเปลี่ยนใช้อินทรียวัตถุเข้ามาบำบัดดิน จนพอปลูกลำไยได้ ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็ให้ญาติโยมและนักท่องเที่ยวได้เก็บกิน
เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับทุกท่านที่ต้องการหันเข้าหาพระธรรมคำสอน ปลีกวิเวก และแสวงหาความสงบ เพื่อปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิ และเดินจงกลม โดย พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี
ไร่เชิญตะวัน