การฟ้อนภูไทในจังหวัดสกลนคร เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มสร้างองค์พระธาตุเชิงชุมซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนครทุกชนเผ่า (คือมีการดัดแปลงปราสาทหินแบบเขมรแล้วครอบทับสร้างเป็นพระธาตุในศิลปะแบบล้านช้างขึ้นแทน) ชาวภูไทเป็นชนเผ่าที่รับอาสาที่จะเป็นผู้ปฏิบัติรักษาหาเครื่องสักการบูชาพระธาตุ ทุกๆปีเมื่อถึงฤดูข้าวออกรวง จะมีการเก็บเกี่ยวข้าวบางส่วนเพื่อนำไปทำเป็น “ข้าวเม่า” ซึ่งชาวภูไทจะนำเอาข้าวเม่ามาถวายการสักการะองค์พระธาตุเชิงชุม ซึ่งมักจะมีขบวนแห่ เรียกว่า “แห่ข้าวเม่า” และมีการฟ้อนรำรอบๆองค์พระธาตุ
แต่เดิมเป็นการฟ้อนรำของผู้ชายเพื่อบูชาพระธาตุในเทศกาลสักการะองค์พระธาตุ แต่ภายหลังก็ได้เปลี่ยนผู้ฟ้อนมาเป็นผู้หญิงทั้งหมด เพราะท่วงท่าและลีลาการฟ้อนซึ่งจะดูสวยงามและอ่อนหวานมากกว่า ผู้ฟ้อนหญิงชาวภูไทจะแต่งกายตามแบบสตรีชาวภูไทสกลนคร และมีการสวมเล็บยาวในการฟ้อนรำอีกด้วย ต่อมาชาวภูไทในท้องถิ่นอื่นในจังหวัดสกลนครได้มาพบเห็นจึงได้นำไปประยุกต์ท่าฟ้อนขึ้นอีก และมีการแต่งเนื้อร้องประกอบการแสดงเพิ่มเติมอีกด้วย
ยกตัวอย่างเนื้อร้องฟ้อนภูไทที่กรมศิลปากรนำออกไปเผยแพร่จนรู้จักกันในทั่วไป ซึ่งแต่งโดย อ.บุญปัน วงศ์เทพ โรงเรียนบ้านหนองศาลา ตำบล พังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ไปเย้อไป ไปโห่เอาชัยเอาซอง(ซ้ำ) ไปโฮมพี่โฮมน้อง ไปร่วมแซ่ฮ้องอวยชัย
เชิงเขาแสนจน หนทางก็ลำบาก(ซ้ำ) ตัวข้อยสู้ทนยาก มาฟ้อนรำให้ท่านชม
ข้อยอยู่เทิงเขา ยังเอาใจมาช่วย(ซ้ำ) พวกข้อยขออำนวย อวยชัยให้ละเน้อ
ขออำนาจไตรรัตน์ จงปกปักฮักษา(ซ้ำ) ชาวไทยทั่วหน้า ให้วัฒนาสืบไป
เวลาก็จวน ข้อยสิด่วนไป(ซ้ำ) ขอความมีชัย แด่ทุกท่านเทอญ
ข้อยลาละเน้อ ข้อยลาละเน้อ…..
ในปัจจุบันการฟ้อนภูไท นอกจากเป็นการฟ้อนเพื่อบูชาพระธาตุเชิงชุม หรือบ้างก็นำมาฟ้อนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีเลี้ยงเจ้าปู่มเหศักดิ์ของชาววาริชภูมิ ก็ได้นำมาใช้ในการฟ้อนต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและในงานเทศกาลต่าง ๆ
ท่าฟ้อนภูไทมีผู้สืบต่อและปรับปรุงกันมากมายหลายท่า แต่ละท้องถิ่นมีท่าแตกต่างกันไป ท่าหลักที่พบนิยมฟ้อน ได้แก่ ท่าบัวตูม-บัวบาน ท่าแซงแซวลงหาด ท่าบังแสง ท่านาคีม้วนหาง ท่านางไอ่เลาะดอน หรือนางไอ่เลียบหาด เป็นต้น
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนภูไท ได้แก่ แคน กลองหาง พิณ กลองตุ้ม (ตะโพน) กลองเส็งหรือกลองกิ่ง โปงลาง ฉาบ หมากกั๊บแก๊บ (กรับ) ฆ้องโหม่งและพังฮาด (ฆ้องโบราณไม่มีปุ่ม) การแสดงจะบรรเลงดนตรีลายภูไทเลาะตูบ
ผู้แต่ง :ครูบุญปัน วงศ์เทพ
ซุมข้าน้อยเป็นชาวภูไท ถิ่นอยู่ไกลอีสานบ้านเกิด
แดนประเสริฐอุดมสมบูรณ์ ศูนย์โฮมใจคือองค์พระธาตุ
(สร้อย) สาวน้อยนางเอย สาวภูไทเอย (ดนตรีและกลองให้จังหวะรับเท่ากับ 1 เนื้อร้อง)
มีหนองใหญ่ ชื่อว่าหนองหาน มีภูพานเป็นราชนิเวศน์
อยู่ในเขตสกลนคร ทางสัญจรไปมาบ่ยาก
(สร้อย) สาวน้อยนางเอย สาวภูไทเอย (ดนตรีและกลองให้จังหวะรับเท่ากับ 1 เนื้อร้อง)
ซุมข้าน้อยโฮมจิตโฮมใจ เป็นคนไทยมีความฮักชาติ
เอกราชคือดังดวงใจ บ่ให้ไผมาดึงเอาได้
(สร้อย) สาวน้อยนางเอย สาวภูไทเอย (ดนตรีและกลองให้จังหวะรับเท่ากับ 1 เนื้อร้อง)
สามัคคีเป็นของเลิศล้ำ จะบังเกิดให้แต่ทางดี
เฮาจงมีสามัคคีกันไว้ ไทยจักได้อยู่สุขสบาย
(สร้อย) สาวน้อยนางเอย สาวภูไทเอย (ดนตรีและกลองให้จังหวะรับเท่ากับ 1 เนื้อร้อง)
ซุมข้าน้อยขออำนวย ให้ถาวรมีสุขทั่วหน้า
ให้ได้สิ่งสมปรารถนา แด่ทุกบรรดาทุกๆท่านเทอญ
(สร้อย) สาวน้อยนางเอย สาวภูไทเอย (ดนตรีและกลองให้จังหวะรับเท่ากับ 1 เนื้อร้อง)
………………………………………….
เสื้อ นิยมทำเป็นเสื้อแขนกระบอกติดกระดุมธรรมดา กระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ เช่น เหรียญสตางค์ห้า สตางค์สิบ มาติดเรียงเป็นแถว นิยมใช้เป็นผ้าย้อมครามเข้มจนดำมีผ้าขลิบแดงติดชายเสื้อ เช่น ที่คอสาบเสื้อ ปลายแขนปัจจุบัน นุ่งผ้าซิ่นพื้นสีดำต่อตีนซิ่นขิดยาวกรอมเท้า
ผ้าเบี่ยงนิยมใช้ผ้าแพรขิดสีแดง พาดไหล่ซ้ายแล้วไปมัดที่เอวด้านขวา สวมส่วยมือยาว(เล็บ)ทำมาจากกระดาษหรือโลหะพันด้วยด้ายและมีพู่ที่ปลายเล็บสีขาวหรือแดง ผมเกล้ามวยมัดมวยผมด้วยผ้าแดงบางครั้งก็ทัดผมด้วยดอกไม้สีขาวหรือไม่ก็ฝ้ายภูไท และสวมเครื่องประดับเงิน เช่น สร้อยคอ ต่างหู กำไล