เดือนเก้า – บุญข้าวประดับดิน

หลังจากเข้าพรรษาไปได้ประมาณหนึ่งเดือน อีกหนึ่งฮีตคองประเพณีอีสานบ้านเราที่มีใช้ช่วงนี้คือ “บุญข้าวประดับดิน” ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า(ประมาณเดือนสิงหาคม) เป็นการนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ อย่างละเล็ก อย่างละน้อย แล้วห่อด้วยใบตองทำเป็นห่อเล็กๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เป็นการทำบุญที่ชาวบ้าน จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

พระเจ้าพิมพิสาร

ความเป็นมาของประเพณีมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสารกินของสงฆ์ เมื่อตายไปจึงไปเกิดในนรก พระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วไม่ได้อุทิศให้ญาติที่ตายไป พอตกกลางคืนเหล่าญาติของพระเจ้าพิมพิสารที่ตายไปมาปรากฎตัวเปล่งเสียงร้องน่ากลัวบริเวณพระราชนิเวศ รุ่งเช้าพระเจ้าพิมพิสารจึงได้รีบไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์จึงบอกเหตุให้ทราบว่าญาติที่ไปตกอยู่ในภูมินรก ต้องการได้รับส่วนกุศล จึงได้ก่อเกิดการทำบุญข้าวประดับดินขึ้นมา เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาตที่ตายไปแล้ว และถือเป็นประเพณีที่ต้องทำมาเป็นประจำ ไม่ใช่แค่เหล่าญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่บรรดาวิญญาณเร่รอน ก็สามารถรับส่วนกุศลนั้นไปด้วย

ประตูนรกเปิด

ประเพณีคนลาวและไทยอีสาน มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า กลางคืนของเดือนเก้า หรือ ทำในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนเก้า เป็นวันที่ประตูนรกเปิด ยมบาลจะปล่อยให้ผีนรกออกมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ ในคืนนี้คืนเดียวเท่านั้นในรอบปี ดังนั้นจึงพากันจัดห่อข้าวไว้ให้แก่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว ถือว่าเป็นงานบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว

พิธีกรรมของประเพณีบุญข้าวประดับดิน

การทำบุญข้าวประดับดินนั้นจะทำกันในช่วงเช้ามืด ประมาณตีสาม – ตีสี่ ของวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ซึ่งหมายความว่าจะต้องเตรียมจัดอาหารคาวหวานไว้ตั้งแต่ตอนเย็นของวันแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๙ นอกจากอาหารคาวหวานแล้วยังมี หมากพลู บุหรี่ โดยจะแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับครอบครัว ส่วนที่สองแบ่งญาติพี่น้องเรือนเคียง ส่วนที่สามอุทิศให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์

สำหรับส่วนที่สามที่จะอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้วนั้นจะห่อน้อยกว่าส่วนอื่น มีวิธีการห่อคือ ใช้ใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ยาวให้สุดซีกของใบตองที่ตัดมา อาหารคาวหวานนั้นจัดใส่ห่ออย่างละเล็กละน้อย อาทิ

๑.ข้าวเหนียวนึ่ง ปั้นเล็กๆเท่าหัวแม่มือ ๑ ก้อน

๒. เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู หรือ อาหารคาวที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่น

๓. อาหารหวาน เช่น กล้วย น้อยหน่า มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่นๆ

๔. หมาก บุหรี่ และเมี่ยง อย่างละคำ

ห่อข้าว – บุญข้าวประดับดิน

ห่อข้าว อาหาร คาวหวานด้วยใบตอง แล้วใช้ไม้กลัดหัวท้าย และตรงกลาาง เราก็จะได้ห่อข้าวน้อย ที่มีลักษณะยาวๆ ตามซีกของใบตอง อีกหนึ่งห่อ เป็นหมากพลู บุหรี่ และเมี่ยงคำ นำมาห่อในลักษณธเดียวกัน จะได้เห็นห่อหมากพลู หลังจากนั้นนำทั้งสองมามัดเป็นคู่ และไปรวมกันเป็นพวงอีกที โดย ๑ พวง จะใส่ห่อหมากห่อพลูจำนวน ๙ ห่อง

ห่อข้าวน้อยที่เรานำไปวาง หมายถึง การนำไปอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว รุ่งสางราวๆตี ๓ – ๔ ของเช้าวันแรว ๑๔ ค่ำ เดือน ๙  แต่ละครัวเรือนจะนำเอาห่อข้าวน้อยที่เตรียมไว้ไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่ ตามทางเดิน ริมกำแพงในวัด ภาษาอีสานเรียกว่าการยาย (ยายหมายถึง วางเป็นระยะๆ) จะทำกันแบบเงียบๆ ไม่มีการตีกลอง ตีฆ้องแต่อย่างใด ระหว่างที่ยายห่อข้าวน้อย ก็จะมีการจุดธูปเทียน เพื่อบอกให้ดวงวิญญาณมารับส่วนกุศลที่ได้อุทิศไปให้ บางคนก็บอกเฉยๆ ไม่ได้จุดเทียนก็มี

วางห่อข้าว – บุญข้าวประดับดิน

หลังจากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน เพื่อเตรียมอาหารมาใส่บาตร ถวายพระในตอนเช้า พระสงฆ์มีการแสดงธรรมเทศนา เกี่ยวกับอานิสงฆ์ของการทำบุญข้าวประดับดินให้ฟัง และมีการกรวดนำทำบุญ ตามประเพณีของพุทธศาสนา ที่ทำกันทั่วๆไป

เป็นยังไงบ้างละครับ หลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวดีๆ ของบุญประเพณีของอีสาน ซึ่งสามารถศื่อให้รู้ว่ามีความกตัญญูต่อบุพการี หรือญาติแม้ล่วงลับไปแล้ว อีกอย่างหลายๆพื้นที่ ประเพณีนี้อาจจะไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่เคยรู้จักเลยด้วยซ้ำไป

คำผญา พูดถึง บุญข้าวประดับดิน โดย บ่าวโจ่โล่ สมาชิกจากเว็บไซท์บ้านมหา

ฮอดเมื่อยามเดือนเก้า เฮ็ดบุญข้าว-ประดับดิน ไปฟังธรรมจำศีล คือถิ่นฐานอิสานเค้า
แรมสิบสามค่ำเดือนเก้า มาเด้อเฮา-ฟ้าวเร่งด่วน ของคาวหวาน-แบ่งสี่ส่วน ลองคำนวนเด้อเจ้า ผมสิเว้าสู่ฟัง
ส่วนที่หนึ่งให้เตรียมตั้ง ทั้งครอบครัวของเฮาก่อน ส่วนที่สองกะแน่นอน แบ่งเป็นตอน-ฝากพี่น้อง ผองญาติ-หมู่ทั้งหลาย
ส่วนที่สามเผิ่นบอกไว้ ให้ผองญาติเสียชีวิต เผิ่นอยากให้อุทิศ แก่ญาติมิตรผู้ลับล่วง สิทวงถ้าว่าส่วนบุญ
ส่วนที่สี่กะทางพุ้น ให้เฮ็ดบุญถวายพระ เป็นการอุปการะ ศาสนะพระพุทธะไว้ ให้เฮาได้-ใจชุ่มเย็น
ส่วนที่เป็น-อุทิศญาติ-อย่าให้ขาด-เฮ็ดตองห่อ ของคาวหวานพร้อมนอ ห่อหมากพลูยาสูบพร้อม ตอมไว้-ไส่กระทง
ฮอดตีห้ากะหาซ่ง อยู่นำดงแถวท้ายวัด พ้าวไปจัดแต่งไว้ ให้หมู่ญาติมารับเอา วางของแล้วให้เจ้า เฝ้ากรวดน้ำส่งกุศล
เอิ้นเอาคนผู้ล่วงลับ มาฮับทานเฮาวางไว้ ถึงตอนเช้ากะแม่นได้ เลี้ยงอาหาร-เฮ็ดทานวัด มีแนวได๋กะให้จัด ภัตตาหารเพลเช้า
ฟังพระเว้า เล่าพระธรรม ผมได้นำเรื่องแต่เค้า เว้าบรรยายในท้องถิ่น นำเรื่องข้าวประดับดิน มาแจกแจงสู่เจ้า พออยากเล่าสู่หมู่ฟัง

แชร์
ไทสกล คนสว่าง

แอดมินอีสานร้อยแปด ไทสกล คนสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บอีสานร้อยแปด นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ทุกเรื่องราวของพี่น้องชาวอีสาน เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดแต่เกิดอยู่สกลนคร ออนซอนประเพณีวัฒนธรรมที่ราบสูงที่เรียกว่าภาคอีสาน จึงได้รวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหล่านั้นรังสรรค์ผลงานนำเสนอผ่านเว็บไซต์ "อีสานร้อยแปดดอทคอม"

ดูความคิดเห็น

  • ประเพณีบุญเดือน ๙ วันดับ แรม ๑๔ ค่ำ บุญห่อข้าวน้อย อยากให้ชาวอีสานได้หวนรำลึกประเพณีนี้ไว้ ให้ตราบนานเท่านาน เพราะมันเป็นแสดงออกถึงความกตัญญูกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกวิธีหนึ่ง