ปราชญ์และบุคคลสำคัญ

ดร.ปรีชา พิณทอง

ทีมงานอีสานร้อยแปดไม่พูดถึงประวัติของปราชย์บุคคลท่านนี้ไม่ได้ เพราะท่านได้สร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา วิถีชีวิตของคนอีสานไว้หลายอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือหนังสือ สารานุกรมอีสาน-ไทย-อังกฤษ ที่ท่านได้เขียนเอาไว้และเมตตาให้ทีมงานอีสานร้อยแปดนำมาสานต่อ โดยตั้…

ทีมงานอีสานร้อยแปดไม่พูดถึงประวัติของปราชย์บุคคลท่านนี้ไม่ได้ เพราะท่านได้สร้างผลงานที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา วิถีชีวิตของคนอีสานไว้หลายอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือหนังสือ สารานุกรมอีสาน-ไทย-อังกฤษ ที่ท่านได้เขียนเอาไว้และเมตตาให้ทีมงานอีสานร้อยแปดนำมาสานต่อ โดยตั้งต้นเป็นฐานข้อมูลภาษาอีสาน และนำมาพัฒนาต่อเป็นพจนานุกรมภาษาอีสานออนไลน์เผยแพร่ให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น และมีคำศัพท์ใหม่ๆเพิ่มมากยิ่งขึ้นตามยุคสมัยโดยได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเว็บไซท์ของเรา ที่ช่วยกันเข้ามาเพิ่มข้อมูล

ด้วยความที่เป็นนักปราชย์แห่งดินแดนภาคอีสาน ถึงแม้เวลาจะผ่านไปกว่าศตวรรษตัวของท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่ผลงานนั้นยังคงอยู่ให้ลูกหลานได้ศึกษา  ประวัติของ ดร.ปรีชา พิณทอง ท่าน เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2457 ณ บ้านโพนทอง หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี  เป็นบุตรของนายตา และนางคำ พิณทอง มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เริ่มเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านโพนทอง การเรียนดีมากแต่ฐานะยากจนจึงบวชเรียน
เป็นสามเณรที่วัดหอไตร อำเภอเขื่องใน ได้เล่าเรียนการอ่านอักษรโบราณ ทั้งตัวไทยเดิม ตัวลาว และตัวไทยน้อยอย่างแตกฉาน

  • พ.ศ. 2473-2475 สอบได้นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก ในขณะที่ยังเป็นสามเณร
  • พ.ศ. 2480 เมื่อย้ายมาจำพรรษาที่วัดป่าใหญ่ (มหาวนาราม) สอบได้เปรียญสามประโยค และได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูสอนธรรม
  • พ.ศ. 2484 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง
  • พ.ศ. 2495 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เช่น การเรียนนักธรรม เรียนบาลี
  • พ.ศ. 2499 สอบได้เปรียญเก้าประโยค ซึ่งถือว่าเป็นเปรียญสูงสุดของฝ่ายสงฆ์ ได้รับการยกย่องจากทุกสารทิศในวงการสงฆ์ เพราะเป็นพระชนบทที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนในสำนักกรุงเทพฯ แต่สอบได้ สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือ เจ้าคุณพระศรีธรรมโสภณ
  • พ.ศ. 2505 ลาสิกขาบท

หลังจากลาสิกขาบทได้ออกมาประกอบอาชีพส่วนตัวโดยตั้งโรงพิมพ์ศิริธรรม ด้วยเหตุที่มีใจรักในวัฒนธรรมอีสาน วรรณคดีอีสาน ต้องการเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้อ่านได้ศึกษาด้วยความเชี่ยวชาญในศาสตร์หลายสาขาโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชาวอีสาน จึงได้แต่งหนังสือมากมายออกมาเผยแพร่ เช่น

  • ประเพณีไทยโบราณอีสาน
  • ภาษิตโบราณอีสาน
  • มนต์โบราณอีสาน เล่ม 1 เล่ม 2
  • รวมวรรณคดีอีสาน เล่ม 1 เล่ม 2
  • ขูลู-นางอั้ว
  • ผาแดง-นางไอ่
  • เวสสันดรคำโคลง
  • สังข์ศิลป์ชัย
  • สวดมนต์แปล
  • กาพย์ปู่สอนหลาน – หลานสอนปู่
  • สิริจันโทวาทยอดคำสอน
  • สวดมนต์เจ็ดตำนาน
  • นกจอกน้อย
  • ท้าวก่ำกาดำ
  • ไขภาษิตโบราณอีสาน
  • ท้าวฮุ่ง-หรือเจือง
  • สารานุกรม อีสาน-ไทย-อังกฤษ

ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2480 – 2494 เป็นครูสอนนักธรรมบาลีประจำสำนักนักเรียนวัดมณีวนาราม วัดสุปัฏนารามและวัดกลางอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2490 ได้เป็นประธานขออนุญาตตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้นที่วัดมณีวนาราม ให้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนอุบลวิทยากร
  • พ.ศ. 2499 ได้ทำถนนกว้าง 6 เมตร ยาว 9 กิโลเมตรจาก บ้านโพนทองถึงบ้านกอก
  • พ.ศ. 2500 ได้พัฒนาภายในบ้านโพนทอง โดยแบ่งที่ดินให้ครัวเรือนละ 200 ตารางเมตร มีครอบครัว 200 เศษ
  • พ.ศ. 2501 ได้สร้างโรงเรียนนักธรรมบาลีและโรงเรียนมัธยมขึ้น 2 หลัง ด้วยเครื่องไม้จริง หลังคามุงสังกะสี กว้าง 8 เมตร ยาว 32 เมตร
  • พ.ศ. 2506 ได้สร้างสถานีอนามัยชั้นสองขึ้น 1 หลัง ที่บ้านโพนทอง

เกียรติประวัติ

  • พ.ศ. 2528 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศเกียรติคุณให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม
  • พ.ศ. 2528 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย เนื่องจากเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานทางวิชาการแสดงเอกลักษณ์ไทย มีความรู้ความสามารถดีเด่นหาได้ยาก โดยเฉพาะงานบุกเบิกวรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน ผลงานที่สำคัญคือ การอ่านอักษรไทยอีสานโบราณทั้งอักษรตัวธรรมและอักษรไทยน้อย แล้วถ่ายทอดเป็นอักษรไทยปัจจุบัน และเรียบเรียงตำราวิชาการทั้งคดีโลกและคดีธรรม

เหรียญพระมหาปรีชา ปริญญาโณ

ทีมงานอีสานได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงที่ท่าน ดร.ปรีชา พิณทอง บวชอยู่นั้นพบข้อมูลว่าเคยออกเหรียญงานฉลองตึกปรีชาประสาธนํ วัดกลาง อุบลฯ พ.ศ.๒๔๙๗

เหรียญพระมหาปรีชา ปริญญาโณ

เหรียญพระมหาปรีชา ปริญญาโณ ด้านหลัง

ซึ่งหากเมื่อเราอ่านดูจากประวัติชีวิตของท่าน ซึ่งท่านบวชตั้งแต่เป็นสามเณร จนลาสิกขา เมื่อปี พ.ศ. 2505 แอดมินลองคำนวณจากปีที่ท่านอายุครบ 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2477 จนถึง พ.ศ. 2505 รวมแล้ว 28 พรรษา (หากข้อมูลมาความคลาดเคลื่อนยังไง รบกวนผู้รู้แจ้งเข้ามาให้ทีมงานแอดมินเราแก้ไขได้เลยเด้อ)

เมธี ศรีเขื่องใน

คือคำยกย่อง ที่หลายๆคนรู้จัก และพูดถึง “ดร. ปรีชา พิณทอง” หมายถึงผู้เป็นนักปราชย์ , ผู้มีปัญญาความรู้ เป็นศรีให้กับชุมชน ในที่นี้คือ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์ ทั้งด้านอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ของอีสาน มีความเข้าใจลุ่มลึกและกว้างขวาง

โกศล อนุสิม (2551)

โกศล อนุสิม (2551) ได้เขียนเล่าถึงอาจารย์ ดร.ปรีชา พิณทอง ไว้ว่า

“ผมเคยได้คุยกับพ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง เมื่อหลายปีก่อน สมัยยังทำหนังสือพิมพ์ โดยไปหาพ่อใหญ่ที่บ้านเมืองอุบลฯ อันที่จริงแล้วผมก็สนิทสนมกับลูกชายของพ่อใหญ่คือ ปริญญา พิณทอง ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์ อยู่ชมรมนักศึกษาอีสานเช่นเดียวกัน เมื่อแยกย้ายกันออกจากมหาวิทยาลัยก็ยังติดต่อกันอยู่ เมื่อกลับบ้านที่นาจะหลวย ผมก็แวะไปหาปริญญาอยู่เสมอ อันเป็นมูลเหตุให้ได้ไปกราบคารวะพ่อใหญ่ปรีชาถึงเรือน พ่อใหญ่ปรีชานั้นนับเป็นนักปราชญ์โดยแท้ ท่านเก่งทั้งด้านอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ของอีสาน มีความเข้าใจลุ่มลึกและกว้างขวาง มีผลงานหนังสือเป็นอันมาก ทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การชำระวรรณกรรมท้องถิ่น รวมถึงการสร้างพจนานุกรมคำอีสาน ไทย อังกฤษ อันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีค่ายิ่ง พจนานุกรมของพ่อใหญ่นั้น ได้ยกวรรณกรรมอีสานมาประกอบคำอธิบายไว้ด้วย ทำให้สามารถอาศัยเค้าเงื่อนให้สืบต่อไปยังต้นเรื่องของวรรณกรรมนั้นๆ ถ้าสนใจเรื่องวรรณกรรมอีสาน หากไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ก็เปิดพจนานุกรมของพ่อใหญ่อ่านดู ก็จะรู้ข้อมูลชี้นำเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี เมื่อครั้งที่ผมได้ไปกราบพ่อใหญ่และพูดคุยกับท่าน โดยผมเป็นฝ่ายถาม พ่อใหญ่เป็นฝ่ายตอบ หลากเรื่องหลายรส สงสัยสิ่งใดเกี่ยวกับเรื่องอีสาน พ่อใหญ่ไขข้อสงสัยให้ได้หมด อธิบายโดยยกถ้อยคำจากแหล่งต่างๆมาอ้างอิงได้โดยไม่ติดขัด โดยเฉพาะ ผญา” อันเป็นเหมือนสุภาษิตสอนใจของชาวอีสาน พ่อใหญ่ยกมาอ้างอิงอธิบายด้วยสำนวนอันไพเราะเป็นอย่างยิ่ง 

          พ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง นั้นทรงภูมิความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกนั้นไม่ต้องสงสัยเพราะมีผลงานปรากฏเป็นหลักบานอยู่แล้ว แต่ทางธรรมนั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้ประวัติของพ่อใหญ่อาจสงสัย ว่าทำไมพ่อใหญ่จึงรอบรู้เรื่องราวในทางธรรมได้ลึกซึ้ง ข้อนี้จะไม่สงสัยเลยถ้ารู้ว่า พ่อใหญ่นั้นท่านบวชมานานก่อนจะลาสิกขามาครองเรือน ยศทางพระของท่านเป็นถึงเจ้าคุณนั่นเลย  เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยม ครูให้ทำรายงานเรื่องประเพณีอีสาน ผมก็ได้อาศัยหนังสือของพ่อใหญ่ปรีชาเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ตอนเรียนในมหาวิทยาลัยก็อาศัยหนังสือของพ่อใหญ่เช่นกัน ปัจจุบันก็ยิ่งพึ่งหนังสือของพ่อใหญ่มากขึ้น เมื่ออ่านวรรณกรรมอีสานที่พ่อใหญ่เป็นผู้ชำระ ติดขัดศัพท์โบราณก็อาศัยพจนานุกรมของพ่อใหญ่ และเมื่อครั้งที่แปลเรื่องสั้นลาว ก็อาศัยพจนานุกรมของพ่อใหญ่เช่นกัน ด้วยว่าภาษาลาวกับภาอีสานนั้นเป็นคำเดียวกัน ต่างแต่ว่าปัจจุบันภาษาลาวรักษาคำดั้งเดิมไว้ได้มากกว่า ส่วนคนอีสานได้รับอิทธิพลจากคำในภาษาอื่นๆโดยนำมาใช้มากขึ้น ทำให้คำเก่าๆค่อยๆสูญหายไป

นอกจากพ่อใหญ่ทำงานเรื่องการสร้างภูมิปัญญา รักษามรดกของบรรพบุรุษอีสานแล้ว พ่อใหญ่ยังเป็นผู้เผยแพร่ให้ออกสู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง โดยการจัดพิมพ์งานที่พ่อใหญ่ใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ขึ้นมาออกเผยแพร่ โชคดีของสังคมอีสานที่พ่อใหญ่มีฐานะมีอันจะกิน ด้วยการประกอบกิจการโรงพิมพ์ จึงทำให้สามารถพิมพ์เอกสาร หลักฐาน หนังสือที่เป็นภูมิปัญญาอีสาน ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้สูญหายแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ให้ไปถึงมือผู้ที่สนใจอีกด้วย ซึ่งกิจการโรงพิมพ์นั้น ปริญญา พิณทอง ลูกชายคนโตของพ่อใหญ่ได้กลับไปสานต่อกิจการเมื่อเรียนจบจนถึงปัจจุบัน

          หากพ่อใหญ่ปรีชาไม่มีฐานะพอที่จะพิมพ์เอกสารดังกล่าวเองได้ ก็เป็นที่สงสัยว่า ภูมิปัญญาอีสานอันประเมินค่าไม่ได้ จะมีชะตากรรมเช่นไร ก็คงเหมือนกับเอกสารและภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ล้มหายตายจากสูญสิ้นไปโดยไร้ร่องรอย

          หากแม้นใคร ไม่ว่าจะเป็นลูกอีสานหรือไม่ ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวเก่าก่อนของอีสาน ผ่านเอกสารที่พ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง ได้สร้างและชำระไว้นั้น ก็ขอจงรู้ไว้ว่า ได้เป็นหนี้พ่อใหญ่อย่างใหญ่หลวง เพราะหากไม่มีพ่อใหญ่ปรีชา ภูมิปัญญาเหล่านั้นก็อาจสูญหายตกหล่นไปเป็นอันมาก ดังนั้น จึงของกราบคารวะพ่อใหญ่ปรีชา พิณทอง ไว้ในที่นี้”

ข้อเขียนของโกศล อนุสิม ทำให้เราเห็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ของท่านอาจารย์ ดร.ปรีชา พิณทอง ได้สร้างไว้ เป็นมรดกปรากฎมาจนถึงปัจจุบัน

อาจารย์ปรีชา พิณทอง ถือเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของภาคอีสาน เพราะตำรับตำรา ของท่านแต่ละเล่มอุดมไปด้วย ภูมิปัญญา สาระของภาคอีสาน วิทยานิพนธ์ ตำรารุ่นหลังแต่ละเล่ม ในบรรณานุกรม จะต้องมีชื่อท่านบรรจุอยู่ในนั้น การันตีถึงฝีมือและภูมิปัญญาอย่างแท้จริง

อ้างอิง :

  • https://www.isangate.com/new/artist-isan/205-preecha-pinthong.html
  • https://www.gotoknow.org/posts/648932
แชร์
ทิดเขียว

เด็กอีสานบ้านนา โตมากับท้องไร่ท้องนา ชีวิตดิ้นรนตามประสาคนอีสานสู้ชีวิต เอาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาพัฒนาเป็นเว็บไซต์เล็กๆร่วมกับหมู่พวกที่มีอุดมการณ์เดียวกันชื่อว่าเว็บไซต์อีสานร้อยแปด เชิญพี่น้องมาม่วนซื่นร่วมสร้างสรรค์นำกัน ไผมีความรู้อีหยังกะอย่าลืมเอามาเก็บบันทึกไว้ในพื้นที่เล็กๆแห่งนี้เด้อ

ดูความคิดเห็น

  • ลูกหลานอิสานติดหนี้บุญคุณท่านค่ะ ขอให้มรดกนี้จงแผ่ขยายออกไปนับร้อยนับพันปี

  • ลูกหลานอิสารติดหนี้บุญคุณท่านค่ะ ขอให้มรดกนี้จงแผ่ขยายออกไปนับร้อยนับพันปี