เกษตรอีสาน

ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้หรือทำมาจากวัสดุอินทรีย์ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ชื้น สับ หมัก บด ร่อย สกัด หรือด้วยวิธีการอื่น

ปุ๋ยอินทรีย์ คืออะไร

ปุ๋ยอินทรีย์ หมายถึง ปุ๋ยที่ได้หรือทำมาจากวัสดุอินทรีย์ ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ชื้น สับ หมัก บด ร่อย สกัด หรือด้วยวิธีการอื่น และวัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายสมบูรณ์ด้วยจุลินทรีย์จะให้ปริมาณธาตุอาหารพืชน้อย แต่จะให้ธาตุอาหารพืชอย่างครบถ้วนทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม โดยค่อย ๆ ปลดปลอยให้พืชได้ใช้ และช่วยให้ดินสามารถดูดซับธาตุอาหารพืชไว้ได้สูงทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ประโยชน์ของ ปุ๋ยอินทรีย์

  • ช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน หากใช้อย่างต่อเนื่องจะทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น ดินโปร่ง ร่วนซุย มีการระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศดีขึ้น พืชดูดซับน้ำและธาตุอาหารพืชในดินไปใช้ได้มากขึ้น ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
  • เป็นแหล่งธาตุอาหารพืชครบถ้วนตามที่พืชต้องการ ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม โดยค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารพืชอย่างช้า ๆ และอยู่ในดินได้นาน และเมื่อใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมีจะช่วยส่งเสริมให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
  • ช่วยเพิ่มแหล่งอาหารให้แก่จุลินทรีย์ในดิน ทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินเพิ่มขึ้น ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้แปรสภาพเป็นธาตุอาหารพืชได้มากขึ้น และจุลินทรีย์บางชนิดช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้ด้วย

ชนิดของ ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์สามารถแบ่งได้ 4 ชนิดตามแหล่งที่มา ดังนี้

ปุ๋ยคอก

ปุ๋ยคอก (Farmyard Manure) หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากสิ่งขับถ่ายของสัตว์ หรือมูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น ขี้หมู ขี้วัว ขี้ไก่ เป็นต้น ก่อนนำไปใช้จะต้องหมักไว้ให้เกิดการย่อยสลายก่อน โดยทั่วไปจะมีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม อยู่ในปริมาณค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยทั่วไปจะมีไนโตรเจน ประมาณ 0.5 % ฟอสฟอรัส 0.25 % และโพแทสเซียม 0.5 % การเก็บรักษาปุ๋ยคอกไม่ควรเก็บในที่มีความชื้นสูง ควรกองเป็นรูปฝาชีอัดให้แน่น เก็บไว้ในที่กันแดดและฝน ถ้าอยู่กลางแจ้งควรหาวัสดุคลุม เพื่อป้องกันการสูญเสียธาตุอาหาร หรือเก็บในหลุมที่ทำด้วยคอนกรีต

ปุ๋ยคอก

ปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยหมัก (Composts) หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการนำเอาเศษซากพืช ซากสัตว์ วัสดุเหลือใช์ทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรม มาผ่านกระบวนการหมักร่วมกับมูลสัตว์จนย่อยสลายเสร็จสมบูรณ์ โดยอาศัยกิจกรรมของจุลินทรีย์ย่อยสลายจนกระทั่งได้สารอินทรียวัตถุสีดำที่มีความคงทนต่อการสลายตัว เรียกว่า “ฮิวมัส” ปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยหมัก โดยทั่วไปจะมีค่าอยู่ ระหว่าง 0.4 – 2 % ไนโตรเจน 0.1 – 1% ฟอสฟอรัส และ 0.6 – 3 % โพแทสเซียม

สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับ ปุ๋ยหมัก ได้ที่บทความ “ปุ๋ยหมัก ทำยังไง มีกี่แบบ”

ปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยพืชสด

ปุ๋ยพืชสด (Green Manure) หมายถึง ปุ๋ยที่ได้จากการ ตัด สับ หรือไถกลบพืชสด ๆ ส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูลถั่วลงในดิน โดยในที่ลุ่มควรปลูกโสนอัฟริกัน ในที่ดอนควรปลูกปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม และถั่วเขียว ระยะเวลาที่เหมาะสมในการไถกลบ คือระยะออกดอกเต็มที่ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 45 – 60 วัน แล้วปล่อยให้เน่าสลายกลายเป็นปุ๋ยจึงปลูกพืชหลักตาม ปริมาณธาตุอาหารที่ได้รับมีค่าอยู่ระหว่าง 1.7 – 3 % ไนโตรเจน 0.2 – 0.4 % ฟอสฟอรัส และ 0.9 – 3.2 % โพแทสเซียม

ปุ๋ยพืชสด

น้ำหมักชีวภาพ

น้ำหมักชีวภาพ (Bio-Fermented Water) คือการหมักชิ้นส่วนของพืชผัก ผลไม้ หรือสัตว์ชนิดต่าง ๆ กับกากน้ำตาลและน้ำ ผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้ประกอบด้วยสารต่าง ๆ เช่น ธาตุอาหารพืช ฮอร์โมน กรดอมิโน กรดฮิวมิก กรดอินทรีย์ เอ็นไซม์ วิตามิน มีผลต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช กระตุ้นการงอกของราก ช่วยให้พืชแข็งแรงต้านทานต่อโรคและแมลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น สีสัน และรสชาติดีกว่าเดิม ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิต โดยมีผลผลิตธาตุอาหารไนโตรเจนรประมาณ 0.1-1% ฟอฟฟอรัส 0.3-1.1% และโพแทสเซียม 0.4-1%

น้ำหมักชีวภาพ

ข้อจำกัดของปุ๋ยอินทรีย์

  • ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารพืชอยู่น้อย หากต้องการให้พืชได้รับธาตุอาหารที่เท่ากัน เพื่อยกระดับผลผลิตให้ได้เท่ากับการใช้ปุ๋ยเคมี จะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณที่มากกว่า เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง และแรงงานในการใส่ปุ๋ยมากกว่าการใส่ปุ๋ยเคมี
  • การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่สามารถปรับแต่งให้ได้สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับดินและพืชได้ เนื่องจากได้มาจากซากพืชและสัตว์ มีความผันแปรของธาตุอาหารพืชต่าง ๆ ในปุ๋ย ในขณะที่ปุ๋ยเคมีสามารถกำหนดปริมาณธาตุอาหารที่ต้องการได้
  • ปุ๋ยอินทรีย์ไม่สามารถให้ธาตุอาหารแก่พืชได้ตามช่วงเวลาที่พืชต้องการเนื่องจากต้องอาศัยการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ในดินและค่อย ๆ ปลดปล่อยให้พืชใช้อย่างช้า ๆ
  • ปุ๋ยอินทรีย์บางชนิดอาจมีโลหะหนักหรือสารพิษปนเปื้อน โดยเฉพาะปุ๋ยหมักที่ทำจากขยะที่รวบรวมจากเมืองใหญ่ หรือวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อพืชดูดขึ้นไปใช้ คนหรือสัตว์ที่บริโภคผลผลิตนั้นอาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้

ข้อดีและข้อเสียของปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิด

น้ำหมักชีวภาพ

น้ำหมักชีวภาพ มีการผลิตและนำไปใช้สะดวก ไม่ยุ่งยาก แต่มีปริมาณธาตุอาหารน้อยกว่าปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ และไม่สามารถเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน

ปุ๋ยพืชสด

ปุ๋ยพืชสด มีข้อดีคือใช้ปริมาณน้อย ขนย้ายสะดวก หาง่าย ราคาถูก และใช้ในพื้นที่ที่ใหญ่ได้ แต่มีข้อเสียคือ ต้องปลูกพืชปุ๋ยสดก่อนแล้วจึงไถกลบ ทำให้เสียเวลาและแรงงาน นอกจากนี้การเจริญเติบโตของปุ๋ยพืชสดก็ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและพื้นที่ปลูก ทำให้มีผลต่อน้ำหนักและปริมาณธาตุอาหารของปุ๋ยพืชสด

ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก มีข้อดีคือสามารถกำหนดอัตราการใช้ให้เหมาะสมได้ เช่น การเพิ่มประมาณอินทรีย์วัตถุในดินให้สูงขึ้น หรือการเพิ่มธาตุอาหารในระดับที่พืชต้องการแล้วสามารถนำไปใช้ได้ทันที แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องใช้ปริมาณมาก ขนย้ายลำบาก หายาก ราคาค่อนข้างแพง

ข้อมูล

แชร์
เซียงเหมี่ยง

เด็กผู้ชายบ้านนอก ที่เกิดและโตท่ามกลางความเป็นอีสาน จนซึมซับกลายเป็นความชื่นชอบและสนใจในประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และอีกหลาย ๆ อย่าง จนได้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าในเว็บไซต์ อีสานร้อยแปด นั่นเอง