วันพืชมงคลหรืออีสานบ้านเฮาเรียก “แฮกนาขวัญ” หรือ “แรกนาขวัญ” เป็นชื่อพิธีกรรมที่ทำขึ้นในหน้านาเพื่อประเดิมการทำนา
ในประเทศไทย การแรกนาขวัญซึ่งกระทำโดยราชสำนักนั้นประกอบด้วยพิธีสองอย่างตามลำดับ คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีพุทธซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งกระทำสืบเนื่องมาแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบัน เรียกวันแรกนาขวัญว่า วันพืชมงคล ซึ่งจัดไม่ตรงกันทุกปีสุดแต่สำนักพระราชวังจะกำหนด วันพืชมงคลยังเป็นวันเกษตรกรไทย เพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรรมในเศรษฐกิจไทย และเป็นวันหยุดราชการด้วย แต่ไม่เป็นวันหยุดธนาคาร
หลังจากพิธีไถหว่านเสร็จเรียบร้อยหมดแล้วพระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์ เพื่อทำพิธีต่อไปเรียกว่า พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะได้ถวายคำพยากรณ์เสร็จแล้วจะได้ เบิกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสถาบันเกษตรกร ดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาต่าง ๆ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ หลังจากนั้นจะได้แห่พระยาแรกนาเป็นกระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนากราบถวายบังคม แล้วเข้ากระบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงพร้อมด้วยเทพีไปรอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถที่แปลงนาทดลองใน โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
ของกินเจ็ดสิ่งที่นำมาตั้งเลี้ยงพระโคนั้นประกอบไปด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา หญ้า น้ำ และเหล้า
คำทำนายจะทำนายจากสิ่งที่พระโคเลือกกินโดย
– พระโคกินถั่วหรืองา : พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
– พระโคกินข้าวหรือข้าวโพด : พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
– พระโคกินน้ำหรือหญ้า : พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์
– พระโคกินเหล้า : พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
เรามาดูคำทำนายจากพระโคเสี่ยงทายในปีที่ผ่านมากันจากภาพประกอบด้านล่าง
– ขอบคุณภาพประกอบสวยๆ จาก ASTV และข้อมูลดีๆจาก wikipedia เด้อครับ