รำโส้ทั่งบั้งเป็นการแสดงที่กล่าวถึงพิธีกรรมความเชื่อของชาวโส้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณสกลนครและนครพนม ในการประกอบพิธีเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ชาวโส้จะใช้กระบอกไม้ไผ่มากระแทกลงกับพื้น เพื่อให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะ ต่อมาได้มีการประดิษฐ์คิดท่ารำให้เกิดความสวยงามมากยิ่…
ชาวไทโส้ หรือที่ชาวไทโส้เรียกตัวเองว่า “ทรอ” เป็นกลุ่มชาวพื้นเมืองตระกูลเดียวกับพวกบรู, ส่วย และมีตระกูลภาษากลุ่มออสโตเอเชียติก สาขามอญ-เขมร อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงการแต่งกายของชาวไทยโส้ ไว้ในหนังสือเรื่องเที่ยวที่ ต่างๆ ภาค 4 เมื่อเสด็จภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2449 ไว้ว่า
“…ผู้หญิงไว้ผมสูงแต่งตัวนุ่งซิ่นสวมเสื่อแขนกระบอกย้อมครามห่มผ้าแถบ ผู้ชายแต่กายอย่างคนเมือง แต่เดิมนุ่งผ้าเตี่ยวไว้ชายข้างหน้า ชายหนึ่ง….”
ซึ่งยังคงมีการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ในวันสำคัญของหมู่บ้านหรืองานบุญประจำปีของชนเผ่า ด้านพิธีกรรมความเชื่อ มีการนับถือพุทธศาสนาและยังคงความเชื่อผีบรรพบุรุษอย่างเนียวแน่น ก่อให้เกิดพิธีกรรมที่โดดเด่นมาจนถึงปัจจุบัน คือ พิธีโส้ทั่งบั้ง
โส้ทั่งบั้ง เป็นภาษาพื้นถิ่นอีสานที่เรียกชื่อพิธีกรรมของชาวโส้ คำว่า โส้ หมายถึง ชาวไทโส้ ส่วนคำว่า ทั่ง แปลว่า กระทุ้ง หรือกระแทก คำว่าบั้ง หมายถึงปล้องหรือกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ว่าด้วยการบูชาผีบรรพบุรุษเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข ตามความเชื่อ สามารถประกอบพิธีได้โดยให้มีผู้ร่วมพิธีอย่างน้อย 8 คน เป็นผู้รำ และมีชาย 2 คน ถือบั้ง (กระบอกไม้ไผ่) ขนาดยาว 3 ปล้อง เดินเวียนซ้ายประกอบในวงรำ โดยฝ่ายชายจะกระทุ้งบั้งลงพื้นตามจังหวะดนตรีที่บรรเลง ฝ่ายหญิง 2 คน จะเป็นผู้ถือจานข้าวสารกับไข่ดิบ พร้อมกับขวดเหล้าเดินนำผู้ประพิธีคนอื่น
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งสมเด็จตรวจราชการมณฑลอุดร เมื่อสมเด็จถึงเมืองกุสุมาลย์ (อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร) เมื่อ พ.ศ. 2449 ได้ทรงบันทึกการแสดงโส้ทั่งบั้งหรือสะลาไว้ว่า
“สะลามีหม้อดินตั้งกลางแล้วมีคนต้นบทคนหนึ่ง คนสะพายหน้าไม้ และลูกสำหรับยิงคนหนึ่ง คนตีฆ้องเรียกว่าพระเนาะคนหนึ่ง คนถือไม้ไผ่สามปล้องสำหรับกระทุงดิน รวมแปดคน เดินร้องรำเป็นวงวนเวียนไปมา พอพักหนึ่งก็ดื่มอุและร้องรำต่อไป…”
เป็นการแสดงที่กล่าวถึงพิธีกรรมความเชื่อของชาวโส้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณสกลนครและนครพนม ในการประกอบพิธีเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย ชาวโส้จะใช้กระบอกไม้ไผ่มากระแทกลงกับพื้น
เพื่อให้เกิดเสียงดังเป็นจังหวะ ต่อมาได้มีการประดิษฐ์คิดท่ารำให้เกิดความสวยงามมากยิ่งขึ้น
ในพิธีกรรมดั้งเดิมใช้แคนอย่างเดียว เมื่อนำมาประกอบการแสดงวงโปงลาง ใช้เครื่องดนตรีแบบวงโปงลาง
ชาย นุ่งโสร่ง สวมเสื้อม่อฮ่อม คาดเอวด้วยผ้าขาวม้าหรือผ้าขิด
หญิง นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนจกสีครามเข้มหรือครามน้ำเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกสีเดียวกับผ้าซิ่น ห่มสไบขิดหรือแพรวาสีแดง มวยผม รัดเกล้าด้วยด้ายขาว