เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลบุญเดือนห้าที่ดับความร้อนจากอากาศร้อนๆ ด้วยความเย็นของน้ำที่สาดกันทั่วทุกสารทิศ เทศกาลสงกรานต์ของไทย เต็มไปด้วยความชุ่มฉ่ำ เต็มไปด้วยความอบอุ่นของญาติพี่น้องที่จะมาพบปะกันในช่วงเทศกาล เมื่อถึงคราวงานบุญทีไร จะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยนั้นมีความสุขมากที่สุด งานบุญสงกรานต์ เป็นงานบุญที่ถูกสืบทอดกันมาเรื่อยๆแต่นานมาแล้ว สำหรับชาวอีสานจะเรียกประเพณีงานบุญสงกรานต์นี้ว่า ฮีตสิบสอง วันนี้อีสานร้อยแปดจะนำพาทุกท่านมารู้จักกับงานบุญสงกรานต์ บุญของคนไทย ที่เต็มไปด้วยความสวยงามของวัฒนธรรมและประเพณี
วันสงกรานต์ของคนไทย โดยปกติแล้วจะมีทั้งหมด 3 วันด้วยกัน คือวันที่ 13 วันที่ 14 วันที่ 15 ในเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งวันสำคัญของชาวภาคอีสาน ก็คือวันสุดท้าย ซึ่งนั่นก็คือวันที่ 15 ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง เป็นวันงานบุญสงกรานต์อย่างแท้จริง ตามแบบฉบับของชาวอีสานแล้ว วันที่ 15 เมษายนของทุกปี จะมีการทำบุญ พร้อมกับการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เป็นการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ เริ่มต้นความเป็นสิริมงคลของชีวิตที่ดีอีกด้วยเช่นกัน ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 เป็นวันแห่งการเริ่มต้นใหม่ของชาวอีสาน เป็นวันแห่งความสุข การพร้อมรับกับสิ่งดีดี
วันสงกรานต์ มีตำนานเล่าขานกันต่อมาถึงการตัดศีรษะของกบิลพรหม ผู้ที่วัดระดับเชาว์ปัญญากับธรรมบาลผู้ฉลาดหลักแหลม ผู้ที่สามารถตอบคำถามได้ทุกคำถาม การทดสอบธรรมบาลจึงเกิดขึ้น เมื่อพรหมโลกส่งกบิลพรหมมาทดสอบธรรมบาล ซึ่งข้อแม้ก็คือ ถ้าธรรมบาลสามารถตอบคำถามได้ กบิลพรหมจะต้องตัดศีรษะของตัวเองออกไป ซึ่งคำถามที่กบิลพรหมใช้ถามกับธรรมบาลก็คือ
ตอนเช้า ศรีของคนเราอยู่ที่ไหน
ตอนเที่ยง ศรีของคนเราอยู่ที่ไหน
ตอนเย็น ศรีของคนเราอยู่ที่ไหน
เวลาผ่านไปเกือบ 7 วัน เข้าสู่วันที่ 6 ธรรมบาลก็ครุ่นคิดหนักมาก เพราะหาคำตอบไปให้กับกบิลพรหมไม่ได้ จนกระทั่งได้คำตอบเพราะเดินทางเข้าป่าไปได้ยินนกอินทรีย์คุยกัน และได้คำตอบมาให้กับกบิลพรหมถึงคำถาม 3 ข้อนั้น คำตอบของธรรมบาล ทำให้กบิลพรหมรู้สึกถึงความฉลาดเกินเด็กธรรมดาของธรรมบาลยิ่งนัก
ตอนเช้า ศรีของคนเรานั้นอยู่ที่ศีรษะ ใบหน้า เพราะใช้น้ำล้างทำความสะอาดหน้าให้สดชื่น สะอาด
ตอนเที่ยง ศรีของคนเรานั้นอยู่ที่หน้าอก เพราะว่าคนเราใช้น้ำหอมน้ำเย็นประพรมหน้าอก
ตอนเย็น ศรีของคนอยู่ที่เท้า เพราะใช้น้ำล้างเท้า
เมื่อตอบปัญหาไปครบถ้วนตามที่ต้องการแล้ว กบิลพรหมจึงจำต้องตัดศีรษะตนเองด้วยความสัตย์ เมื่อศีรษะของกบิลพรหมตกถึงพื้นแล้ว ก็เกิดไฟไหม้แผ่นดิน บ้านเมืองแห้งแล้ว ธิดาของกบิลพรหมจึงต้องนำพานมารองศีรษะของกบิลพรหมผู้เป็นบิดาเอาไว้ แล้วแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งธิดาทั้ง 7 องค์ จะเวียนสับเปลี่ยนกันมาแห่ในแต่ละปี จึงเป็นที่มาของชื่อนางสงกรานต์ในแต่ละปี ทุกปีจะเปลี่ยนกันไป ซึ่งแต่ละนางแต่ละชื่อก็จะมีความหมาย มีคำทำนายซ่อนอยู่ในชื่อนั้น เกิดขึ้นมาเป็นพิธีสงกรานต์ที่เกิดขึ้นมาในแต่ละปี ทุกปี
ในเดือนห้า วันสงกรานต์ของทุกปี ที่จะมีการทำบุญเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน จะมีประเพณีปฏิบัติต่อๆกันมาในทุกปี
ชาวอีสานให้ความสำคัญกับน้ำหอม น้ำอบ น้ำปรุง ดอกไม้เป็นอย่างมาก เพราะมันช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้นทุกครั้ง นอกจากนั้นก็ยังมีประเพณีขนทรายเข้าวัด การก่อเจดีย์ทราย เชื่อกันว่าทุกครั้งที่คนเรามาวัด ดินก็ติดกับรองเท้าของเราไปทุกครั้ง ถึงเวลาที่ต้องขนทรายเข้ามาคืนวัดได้แล้ว และเพื่อให้วัดเป็นสถานที่ที่สูงขึ้นไปอีก ความสุข ความสดชื่น ประเพณีและวัฒนธรรมที่สวยงาม จึงถูกรวมอยู่ที่ เดือนห้า-บุญสงกรานต์