ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ประเพณีอีสานสืบต่อกันมา

ฮีตสิบสิง คองสิบสี่

อันว่าจาริตะนั้น ฮีตครองโบราณ เป็นประเพณีรรมเนียมสืบมาเดี๋ยวนี้ เป็นแบบแผนไว้ ความดีงามประพฤติชอบ เป็นประเพณีทำบุญ ๑๒ เดือน กล่าวไว้ในคัมภีร์ได้บ่ไข

ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานบ้านเฮาที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป
ฮีตสิบสอง
ฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณี 12 เดือนที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทางพุทธศาสนา ความเชื่อและการดํารงชีวิตทางเกษตรกรรมซึ่งชาวอีสาน ยึดถือปฏิบัติกัน มาแต่โบราณ มีแนวปฏิบัติแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนเพื่อให้เกิดสิริมงคลในการดําเนินชีวิต เรียกอย่างท้องถิ่น ว่างานบุญ ชาวอีสานให้ความสําคัญกับ ประเพณีฮีตสิบสองเป็นอย่างมากและยึดถือปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอนับเป็นเอกลักษณ์ของ ชาวอีสาน อย่างแท้จริง คําว่า “ฮีตสิบสอง”มาจากคําว่า “ฮีต” อันหมายถึงจารีต การปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี “สิบสอง” คือประเพณีที่ปฏิบัติตามเดือนทางจันทรคติทั้งสิบสองเดือน
เดือนอ้าย – บุญเข้ากรรม
เดือนยี่ – บุญคูณลาน
เดือนสาม – บุญข้าวจี่
เดือนสี่ – บุญพระเวส หรือ บุญผะเหวด
เดือนห้า – บุญฮดสรง หรือ บุญสงกรานต์
เดือนหก – บุญบั้งไฟ
เดือนเจ็ด – บุญซำฮะ
เดือนแปด – บุญเข้าพรรษา
เดือนเก้า – บุญข้าวประดับดิน
เดือนสิบ – บุญข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ด – บุญออกพรรษา
เดือนสิบสอง – บุญกฐิน

คองสิบสี่ เป็นคำและข้อปฏิบัติคู่กับฮีตสิบสอง คอง แปลว่า แนวทาง หรือ ครรลอง ซึ่งหมายถึง ธรรมเนียมประเพณี หรือแนวทาง และ สิบสี่ หมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางปฏิบัติสิบสี่ข้อ ดังนั้นคองสิบสี่จึงหมายถึง ข้อวัตรหรือแนวทางที่ประชาชนทุกระดับ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์ และคนธรรมดาสามัญพึงปฏิบัติสิบสี่ข้อ อาจสรุปได้หลายมุมมองดังนี้
1. เป็นหลักปฏิบัติกล่าวถึงครอบครัวในสังคม ตลอดจนผู้ปกครองบ้านเมือง
2. เป็นหลักปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง และหลักปฏิบัติของประชาชนต่อพระมหากษัตริย์
3. เป็นหลักปฏิบัติที่พระราชายึดถือปฏิบัติ เน้นให้ประชาชนปฏิบัติตามจารีตประเพณี และคนในครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกัน
4. เป็นหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุขตามจารีตประเพณี

คองสิบสี่โดยนัย ที่ 1
เพื่อดํารงรักษาไว้ซึ่งประเพณีและทํานองคลองธรรมอันดีงามกล่าวถึงผู้เกี่ยวข้องในครอบครัว สังคมตลอดจน ผู้มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองพึงปฏิบัติ เมื่อพูดถึงคองมักจะมีคําว่าฮีตควบคู่กันอยู่เสมอ แบ่งออกเป็น 14 ข้อ คือ
1. ฮีตเจ้าคองขุน สําหรับกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองปกครองอํามาตย์ ขุนนางข้าราชบริพาร
2. ฮีตเจ้าคองเพีย สําหรับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในการปกครองข้าทาสบริวาร
3. ฮีตไพร่คองนาย สําหรับประชาชนในการปฏิบัติตนตามกบิลบ้านเมืองและหน้าที่พึงปฏิบัติต่อนาย
4. ส่วนรวมฮีตบ้านคองเมือง วัตรอันพึงปฏิบัติตามธรรมเนียมทั่วไปของพลเมืองต่อบ้านเมืองและส่วนร่วม
5. ฮีตผัวคองเมีย หลักปฏิบัติต่อกันของสามีภรรยา
6. ฮีตพ่อคองแม่ หลักปฏิบัติของผู้ครองเรือนต่อลูกหลาน
7. ฮีตลูกคองหลาน หลักปฏิบัติของลูกหลานต่อบุพการี
8. ฮีตใภ้คองเขย หลักปฏิบัติของสะใภ้ต่อญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่สามี
9. ฮีตป้าคองลุง หลักปฏิบัติของลุง ป้า น้า อา ต่อลูกหลาน
10. ฮีตคองปู่ย่า ตาคองยาย หลักปฏิบัติของปู่ย่า ตายาย ให้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรต่อลูกหลาน
11. ฮีตเฒ่าคองแก่ หลักปฏิบัติของผู้เฒ่าในวัยชราให้เป็นที่เคารพเลื่อมในเหมาะสม
12. ฮีตคองเดือน การปฏิบัติตามจารีตประเพณีต่าง ๆ ในฮีตสิบสอง
13. ฮีตไฮ่คองนา การปฏิบัติตามประเพณีเกี่ยวกับการทําไร่ทํานา
14. ฮีตวัดคองสงฆ์ หลักปฏิบัติของภิกษุสามเณรให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยทั้งการช่วยทํานุบํารุงวัดวาอาราม

คองสิบสี่โดยนัย ที่ 2
กล่าวถึงหลักการสําหรับพระมหากษัตริย์ในการปกครองทั้งอํามาตย์ราชมนตรีและประชาชนเพื่อความสงบสุขร่มเย็น โดยทั่วกัน
1. แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริต รู้จักราชการ บ้านเมือง ไม่ข่มเหงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
2. หมั่นประชุมเสนามนตรี ให้ข้าศึกเกรงกลัว บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนเป็นสุข
3. ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม
4. ถึงปีใหม่นิมนต์ภิกษุมาเจริญพุทธมนต์ สวดมงคลสูตรและสรงน้ำพระภิกษุ
5. ถึงวันปีใหม่ให้เสนาอํามาตย์นําเครื่องบรรณาการ น้ำอบ น้ำหอม มุรธาภิเษก พระเจ้าแผ่นดิน
6. ถึงเดือนหกนิมนต์ พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ถือน้ําพิพัฒน์สัตยาติอพระเจ้าแผ่นดิน
7. ถึงเดือนเจ็ด เลี้ยงท้าวมเหสักข์ หลักเมือง บูชาท้าวจตุโลกบาลเทวดาทั้งสี่
8. ถึงเดือนแปด นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทําพิธีชําระ และเบิกบ้านเมือง สวดมงคลสูตร 7 คืน โปรยกรวดทรายรอบเมือง ตอกหลักบ้านเมืองให้แน่น
9. ถึงเดือนเก้า ประกาศให้ประชาชนทําบุญข้าวประดับดิน อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
10. วันเพ็ญเดือนสิบ ประกาศให้ประชาชนทําบุญข้าวสาก จัดสลากภัตต์ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ แก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
11. วันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ทําบุญออกพรรษา ให้สงฆ์ปวารณามนัสการและมุรธาภิเษก พระธาตุหลวง พระธาตุภูจอมศรี และประกาศให้ประชาชนไหลเรือไฟเพื่อบูชาพญานาค
12. เดือนสิบสองให้ไพร่ฟ้าแผ่นดินรวมกันที่พระลานหลวงแห่เจ้าชีวิตไปแข่งเรือถึงวันเพ็ญพร้อมด้วยเสนาอํามาตย์ นิมนต์ และภิกษุ 5 รูป นมัสการพระธาตุหลวงพร้อมเครื่องสักการะ
13. ถึงเดือนสิบสอง ทําบุญกฐิน ถวายผ้ากฐินตามวัดต่าง ๆ
14. ให้มีสมบัติอันประเสริฐ คูนเมืองทั้ง 14 อย่างอันได้แก่ อํามาตย์ ข้าราชบริพาร ประชาชน พลเมือง ตลอดจนเทวดา อารักษ์เพื่อค้ําจุนบ้านเมือง

คองสิบสี่โดยนัย ที่ 3
เป็นจารีตประเพณีของประชานและธรรมที่พระเจ้าแผ่นดินพึงยึดถือ
1. เดือนหกขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทรายทุกปี
2. เดือนหกหน้าใหม่ เกณฑ์คนสาบานตนทําความซื่อสัตย์ต่อกันทุกคน
3. ถึงฤดูทํานา คราด หว่าน ปัก ดํา ให้เลี้ยงตาแฮก ตามกาลประเพณี
4. สิ้นเดือนเก้าทําบุญข้าวประดับดินเพ็ญเดือนสิบทําบุญข้าวสาก อุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
5. เดือนสิบสองให้พิจารณาทําบุญกฐินทุกปี
6. พากันทําบุญผะเหวด ฟังเทศน์ผะเหวดทุกปี
7. พากันเลี้ยงพ่อ แม่ที่แก่เฒ่า เลี้ยงตอบแทนคุณที่เลี้ยงเราเป็นวัตรปฏิบัติไม่ขาด
8. ปฏิบัติเรือนชานบ้านช่อง เลี้ยงดูสั่งสอน บุตรธิดา ตลอดจนมอบ มรดกและหาคู่ครองเมื่อถึงเวลาอันควร
9. เป็นเขย่าดูถูกลูกเมีย เสียดสีพ่อตาแม่ยาย
10. รู้จักทําบุญให้ทาน รักษาศีล ไม่พูดผิดหลอกลวง
11. เป็นพ่อบ้านให้มีพรหมวิหาร สี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
12. พระมหากษัตริย์ต้องรักษาทศพิธราชธรรม
13. พ่อตา แม่ยาย ได้ลูกเขยมาสมสูงให้สํารวมวาจา อย่าด่าโกรธา เชื้อพงศ์พันธุ์อันไม่ดี
14. ถ้าเอามัดข้าวมารวมกองในลานทําเป็นลอมแล้ว ให้พากันปลงข้าวหมกไข่ ทําตาเหลว แล้วจึงพากันเคาะฟาดตี

คองสิบสี่โดยนัย ที่ 4
1. ให้พระภิกษุสงฆ์ศึกษาพระธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้าและรักษาศีล 227 ข้อ เป็นประจําทุกวัน
2. ให้รักษาความสะอาดกุฏิ วิหาร โดยปัดกวาดเช็ดถูกทุกวัน
3. ให้ปฏิบัติกิจนิมนต์ของชาวบ้านเกี่ยวกับการทําบุญ
4. ถึงเดือนแปด ตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเป็นต้นไปต้องจําพรรษา ณ วัดใดวัดหนึ่งไปจนถึงวันแรมหนึ่งคําเดือนสิบเอ็ด
5. เมื่อออกพรรษาแล้วพอถึงฤดูหนาว (เดือนอ้าย) ภิกษุผู้มีศีลหย่อนยานให้หมวดสังฆาทิเสสต้องอยู่ปริวาสกรรม
6. ต้องออกเที่ยวบิณฑบาต ทุกเช้าอย่าได้ขาด
7. ต้องสวดมนต์และภาวนาทุกคืนอย่าได้ละเว้น
8. ถึงวันพระขึ้นสิบห้าค่ำหรือแรมสิบสี่ค่ำ (สําหรับเดือนคี่) ต้องเข้าประชุมทําอุโบสถสังฆกรรม
9. ถึงปีใหม่ (เดือนห้า วันสงกรานต์) นําทายก ทายิกา เอาน้ำสรงพระพุทธรูปและมหาธาตเจดีย์
10. ถึงศักราชใหม่ พระเจ้าแผ่นดินไหว้พระ ให้สรงน้ำในพระราชวัง
11. เมื่อมีชาวบ้านเกิดศรัทธานิมนต์ไปกระทําการใด ๆ ที่ไม่ผิดหวังพระวินัยก็ให้รับนิมนต
12. เป็นสมณะให้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดวาอาราม พระมหาธาตุเจดีย์
13. ให้รับสิ่งของที่ทายก ทายิกานํามาถวายทาน เช่น สังฆทานหรือสลากภัตต
14. เมื่อพระเจ้าแผ่นดินหรือเสนาข้าราชการมีศรัทธา นิมนต์ไปประชุมกันในพระอุโบสถแห่งใด ๆ ในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดต้องไปอย่าขัดขืน


2 ความเห็นที่มีต่อฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ประเพณีอีสานสืบต่อกันมา

มี 3 บทความลิงก์มาที่ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ประเพณีอีสานสืบต่อกันมา

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*