เรื่องทั่วไป

เถียงนา คืออะไร เกี่ยวกับคนอีสานอย่างไร?

เถียงนา หรือ กระท่อมปลายนา เป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนอีสานมานาน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเถียงนาให้มากยิ่งขึ้น

เรามักจะเคยได้ยินวลีที่ว่า “เถียงนาน้อยคอยนาง” กันมาบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไรใช่ไหม ไม่แปลกหรอกที่คนรุ่นใหม่ๆจะไม่รู้จัก “เถียงนา” ว่ามันคืออะไร วันนี้อีสานร้อยแปดเราก็เลยจะมานำเสนอข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับเถียงนา เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักเถียงนามากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ความเป็นมา และ วิวัฒนาการที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และตบท้ายเราจะมีรูปภาพเถียงนาสวยๆมาฝากเพื่อนๆอีกด้วย

เถียงนาคืออะไร?

เถียงนาหรือกระท่อมปลายนา โดย ปกติทั่วไปแล้วคือที่พักอาศัยชั่วคราว จึงมักจะสร้างแบบเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตรองมากนัก ที่แอดมินเคยเห็นเถียงนาบางที่ นั่งได้แค่คนเดียว หรือ สองคนก็มี สร้างไว้พอหลบแดดหลบฝนในช่วงกลางวันที่ออกไปทำไร่ ทำนา จุดที่สร้างเถียงนา ก็มักจะสร้างเอาไว้ที่ปลายที่นา หรือ ที่ดินของเจ้าของคนนั้นๆ ในภาษากลางจึงมักเรียกว่า กระท่อมปลายนา นั่นเอง

นอกจากเถียงนาน้อยแล้ว เถียงนาใหญ่ก็มีนะ บางครั้งจุดประสงค์ในการสร้าง ไม่ได้สร้างเอาไว้แค่อยู่อาศัยชั่วคราว บางที่ถูกออกแบบให้มีความคงทน ชาวนาจะอาศัยอยู่ที่เถียงนาตลอดช่วงฤดูทำการเกษตร หลังเก็บเกี่ยวค่อยจะย้ายกลับเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน เถียงนาแบบนี้จึงมีขนาดใหญ่ และเริ่มสร้างแบบมีพิธีรีตรองมากยิ่งขึ้น เพราะต้องทำให้แข็งแรง กันลม กันแดด กันฝน ให้พ้นช่วงหน้านาไปให้ได้ นั่นเอง

ทำไมต้องเถียง?

ตามเรื่องราวความเชื่อของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าต่อๆกันมา ที่แอดมินพอจะไปสืบเสาะแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับเถียงนามาได้ เกี่ยวกับชื่อของเถียงนา ว่าทำไมต้องเรียกเถียงนา ก็เนื่องมาจากเป็นพิธีที่ทำขึ้นเพื่อบอกเจ้าที่ เจ้าทาง เพื่อทำการขออนุญาติปลูกสร้างเถียงนาในบริเวณนั้นๆ บางแห่งจะสมมติเหตุการขึ้นมาว่า มีคนทะเลาะกัน (เถียงกัน) เสียงดัง และรุนแรง จะทะเลาะเรื่องอะไรก็แล้วแต่จะสมมติขึ้น เช่น ทะเลาะกันจะสร้างตรงนั้น ตรงนี้ บางทีทำท่าขึงขังจะต่อยกันก็มี แต่ที่สำคัญจะต้องเสียงดังให้มากๆ ทำทีว่าเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้น เพื่อไปรบกวน สร้างความน่ารำคาญไปถึงผีสางนางไม้ หรือ ภูตผีปีศาจที่อยู่บริเวณนั้นๆ เกิดความกลัวจนต้องหนีไปที่อื่น ทำให้เกิดความสงบสุขและร่มเย็นในบริเวณนั้นขึ้น ชาวบ้านก็จะสามารถปลูกเถียงนาอยู่ได้ โดยไม่มีอันตรายมารบกวน คนอีสานในบางพื้นที่เชื่อว่า มีที่นาก็จะต้องมีเถียง บ่งบอกถึงความมั่นคง ความมั่งมีในอนาคต ใครที่ไม่มีเถียงนาอาจจะยากจนในอนาคตก็เป็นได้ จึงจำเป็นจะต้องมีการสร้างเถียงนาเอาไว้ นั่นเอง

ประโยชน์ของเถียงนา

แน่นอนว่าเถียงนาที่สร้างขึ้นนั้น ย่อมมีประโยชน์อย่างแน่นอน นอกจากเอาไว้พักชั่วคราว หลบแดดหลบฝน ในยามที่ผู้คนเดินทางไกลผ่านไปมา ก็สามารถแวะมาพักได้

  • เป็นที่พักพิงของคนทั่วไปที่เดินทางผ่านมา
  • ใช้เป็นคอกของสัตว์เลี้ยง หลบแดดหลบฝน
  • ใช้เป็นที่พักในยามค่ำคืน ที่ชาวบ้านออกไปใส่เบ็ด จับกบ จับเขียด ใต้หนู
  • ในยาวว่างเว้นจากหน้านา ยังมีไว้สำหรับนอนกลางวัน กินลมชมวิวก็ได้
  • เถียงนาบางที่ วัยรุ่นหนุ่มสาวใช้เป็นที่พรอดรักกัน
  • เวลาที่อกหักจากความรัก เสาเถียงนาสามารถเป็นที่ปลอบใจได้ ดั่งเพลง “กอดเสาเถียง” ของ ปรีชา ปัดภัย
  • เมื่อรอให้คนรักกลับมา จากเถียงนาเฉยๆ จะเปลี่ยนชื่อเป็น “เถียงนาน้อยคอยนาง” ทันที

เถียงนา สมัยใหม่

ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ๆก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตมนุษย์ รวมถึงคนอีสานด้วยเช่นกัน ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่จะเอามาปลูกสร้างจากเดิมที่สามารถหาได้จากธรรมชาติ ตอนนี้ก็เริ่มหายากขึ้น ทำให้เถียงนานั้นก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ เถียงนาในปัจจุบันก็เลยมีการประยุกต์ใช้วัสดุที่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด แต่ก็ยังคงคอนเซปท์เดิมไว้อยู่คือจะต้องราคาถูกนั่นเอง แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะหลายๆแห่งนั้นมีการเอาดีไซน์ในรูปแบบเถียงนา มาทำให้คงทนถาวร ทำให้เกิดความแปลกตา และสวยไปอีกแบบนึง เรามาดูตัวอย่างรูปแบบเถียงนาสมัยใหม่ที่แอดมินได้รวบรวม ค้นหารูปภาพมาฝากกัน

เถียงนาน้อยสาวโสด

ลองมาดูเถียงนาแนวโมเดิร์นๆกันหน่อย นับว่าเป็นอีกหนึ่งไอเดียในการตกแต่งมากๆ ทั้งน่าอยู่และรื่นรมย์แบบนี้ แอดมินอยากได้สักหลัง เอาไว้นั่งทำงานเสาร์อาทิตย์ คงจะฟินน์ไม่ใช่น้อย

เถียงนา โมเดิร์น

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับออกแบบ “เถียงนา”

เพิ่มเติมแหล่งหาไอเดียถ้าหากเพื่อน ๆ ต้องการหาแบบสำหรับทำเถียงนา แอดมินไปเจอใน Pinterest มีหลากหลายมาก ๆ ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิณที่มีเถียงนาได้ที่ลิงก์ได้เลยเด้อ

แชร์
ไทสกล คนสว่าง

แอดมินอีสานร้อยแปด ไทสกล คนสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บอีสานร้อยแปด นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ทุกเรื่องราวของพี่น้องชาวอีสาน เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดแต่เกิดอยู่สกลนคร ออนซอนประเพณีวัฒนธรรมที่ราบสูงที่เรียกว่าภาคอีสาน จึงได้รวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหล่านั้นรังสรรค์ผลงานนำเสนอผ่านเว็บไซต์ "อีสานร้อยแปดดอทคอม"