ทำไมจังหวัดมหาสารคาม ถึงได้ชื่อว่า “ตักสิลานคร”
วันนี้อีสานร้อยแปดจะมาพูดถึง “จังหวัดมหาสารคาม” เมืองที่ได้รับฉายาหรือรู้จักกันในชื่อ “ตักสิลานคร” คำขวัญประจำจังหวัดมหาสารคามคือ
“พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักสิลานคร”
มหาสารคาม เมืองแห่งการศึกษา : เป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นหลายประการ คน มหาสารคามเป็นคนที่มีความดีงามและเพียบพร้อมด้วยภูมิความรู้มากมาย วิวัฒนาการของบ้านเมือง และพัฒนาการของผู้คนและสังคมก้าวหน้า มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รักสันติ เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานไม่มีภูเขา มีแม่น้ำชีไหลผ่าน การเป็นจังหวัดที่อยู่กึ่งกลางของภาคอีสาน ประกอบกับเป็นเมืองสงบจึงเหมาะกับการเป็นที่ตั้งสถานศึกษาต่างๆ ทุกระดับ จึงเป็นที่มา “เมืองแห่งการศึกษา” หรือ “ตักสิลานคร”
จุดเด่นความเป็น “ตักสิลานคร” จังหวัดมหาสารคามมีสถาบันการศึกษาระดับสูงสุดหลายแห่ง สามารถผลิตทรัพยากรแรงงานระดับคุณภาพที่จะตอบสนองความต้องการทางเทคโนโลยีและธุรกิจได้ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจและแนวทางการพัฒนาประเทศ จึงเป็นจุดเด่นของมหาสารคาม
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของจังหวัดมหาสารคามคือ เป็นจังหวัดที่อยู่ตรงกลางของภาคอีสาน จนได้รับการเรียกขาลว่าเป็น “ดินแดนแห่งสะดืออีสาน” จุดศูนย์กลางของภาคอีสานอยู่ที่บ้านเขวา ต.เขวา อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่จะให้ดินแดนบริเวณนี้เป็น
เมืองตักศิลาในประเทศปากีสถาน :
ตักศิลา (อักษรโรมัน: Taxila (อ่านว่า: ตักสิลา))[1] หรือ ตักสิลา (อักษรโรมัน: Takkaśilā; (อ่านว่า: ตักกะสิลา)) ในภาษาบาลี หรือ ตักษศิลา (อักษรโรมัน: Takṣaśilā) ในภาษาสันสกฤต[2] เป็นชื่อเมืองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐปัญจาบ เป็นมหาวิทยาลัยและเป็นศูนย์กลางของศิลปวิชาการ ในอดีตของอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาลมีสำนักอาจารย์ทิศาปาติโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ แก่ศิษย์ที่มาเล่าเรียนในแถบดินแดนชมพูทวีปบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านที่สำเร็จการศึกษาจากที่แห่งนี้ อาทิเช่น เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล หมอชีวกโกมารภัจจ์ และองคุลีมาล
ปัจจุบันนี้ตักศิลาอยู่ในเขตประเทศปากีสถาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงอิสลามาบัด คงเหลือแต่ซากเมืองให้ได้เห็น มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือ พิพิธภัณฑ์ตักศิลา ซึ่งได้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่และภูมิปัญญาของชาวตักศิลายุคต่างๆ เอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ รวมถึง ซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม แลปฏิมากรรม แบบศิลปะคันธาระ จำนวนมาก อันเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้คนจนรัฐบาลปากีสถานได้อนุรักษ์ไว้เป็นโบราณสถานภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูเนสโก
เมืองตักศิลาถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เป็นนครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ เป็นหนึ่งในบรรดา 16 แคว้นของชมพูทวีป ที่สถาปนาขึ้นโดยชาวอารยันมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำแคว้นและรุ่งเรืองมานับพันปี ก่อนพุทธกาลนั้นมีความรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้สร้างตักศิลาให้มีชื่อเสียงกิตติศัพท์ขจรขจายไปทั่ว พร้อมๆกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ต่อมาตักศิลาก็ต้องตกอยู่ภายใต้อารยธรรมอีกมากมายต่อๆ มา เช่น อารยธรรมกรีก โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช และอารยธรรมฮินดูอีกหลายราชวงศ์ แต่กระนั้นเลย ตักศิลาก็ยังแสดงความเจิดจรัสแห่งพระพุทธศาสนา
ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ชนชาติเฮพธาไลต์ (Hephthalite) ได้ยกทัพมาตีอินเดียและทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้เมืองตักศิลาพินาศสาบสูญแต่บัดนั้น
อ้างอิง:
[1]ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล เล่ม 2 (อักษร M-Z), พิมพ์ครั้งที่ 1, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 584.
[2]พระธรรมปิฎก (ปยุตฺโต). (2538). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โรงพิพม์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : โรงพิพม์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หน้า 61-89.
1 ความเห็นที่มีต่อทำไมจังหวัดมหาสารคาม ถึงได้ชื่อว่า “ตักสิลานคร”
ไม่อาจเชื่อได้ข้อมูลเหล่านั้นมาจากฝรั่งทั้งสิ้น