กลุ่มโบราณสถานสระมรกต

ตั้งอยู่ในตำบลโคกไทย อำเภอศรีมโหสถ ห่างจากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 319 ถนนสุวินทวงศ์เป็นระยะทางประมาณ 24 กม. เป็นกลุ่มโบราณสถานทางพุทธศาสนาซึ่งมีการก่อสร้างซ้อนทับกันมาหลายสมัย เริ่มตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างศิลาแลงและอิฐ ส่วนใหญ่คงเหลือรากฐานเฉพาะอาคารเท่านั้น พ.ศ. 2529 ระหว่างการขุดแต่งได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทคู่สลักอยู่บนศิลาแลงที่ฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้างระหว่างรอยพระบาทมีการกากบาทสลักลึกเป็นร่อง ตรงกลางมีหลุมสันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อปักฉัตรหรือร่มรอยพระพุทธบาทคู่นี้คาดว่าสร้างขึ้นสมัยทวารวดีถึงสมัยลพบุรีนับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย บริเวณใกล้กันมี บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบพระพุทธรูป และโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี สระมรกต ซึ่งเป็นสระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 115 เมตร ยาว 214 เมตร ลึก 3.50 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ สันนิษฐานว่าขุดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำและได้นำศิลาแลงไปใช้ในการก่อสร้าง นอกจากสระมรกตแล้วยังมีสระบัวหล้า และ อาคารศรีมโหสถจัดแสดงนิทรรศการความรู้ เกี่ยวกับโบราณสถานเมืองศรีมโหสถและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบในบริเวณนั้น ที่สำคัญๆ เช่น จารึกเนินสระบัว (ศิลาจารึกหลักที่ 56) เป็นศิลาจารึก หินทรายสีขาวขนาดกว้าง 40 ซม. ยาว 177 ซม. เดิมถูกขนย้ายจากโบราณสถานใกล้สระบัวหรือสระบัวล้า มาพิงไว้ที่โคนต้นโพธิ์ วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ ได้รับการสำรวจและทำสำเนาครั้งแรกเมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 โดยนายชิน อยู่ดี ปัจจุบันจารึกนี้ จัดแสดงอยู่ภายในอาคารศรีมโหสถ ภายในเมืองโบราณแห่งนี้ยังคงปรากฏสระน้ำโบราณ 2 แห่ง คือ สระแก้วและสระขวัญ อยู่ห่างจากคูเมืองประมาณ 100 ม. ลักษณะเป็นสระรูปสี่เหลี่ยม ที่ขอบสระแก้วมีภาพสลักรูปสัตว์บนศิลาแลง เช่น ช้าง สิงห์ เสือ ฯลฯ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำที่ใช้ประกอบพิธีกรรม

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด