ปราจีนบุรี นับได้ว่าเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่หลายอย่าง ด้วยที่ตั้งของเมืองเป็นเส้นทางเชื่อมต่อในการเดินทางระหว่างอาณาจักรขอมและอาณาจักรอยุธยา ในอดีตจากที่ตั้งของเมืองปราจีนบุรี เมื่อเกิดศึกสงครามระหว่างอาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรกัมพูชา เมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกติดพันกับพม่า หรือเกิดความอ่อนแอ กัมพูชาจะถือโอกาสมากวาดต้อนผู้คนตามชายแดน เช่น เมืองปราจีนบุรี จนมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร ฯ พระองค์ได้ตรัสแก่มุขอำมาตย์ลำดับพฤติกรรมของผู้ครองแผ่นดินกับพูชา ตั้งแต่พระยาละแวกบิดานักพระสุโทนักพระสุทัน เมื่อครั้งศึกกรุงหงสาวดีครั้งแรก พระยาละแวกได้ยกทัพเข้ามากวาดเอาผู้คนชาวเมืองปราจีนไป จนต้องยกทัพไปปราบ จนต้องถวายนักพระสุโทนักพระสุทันเข้ามากรุงศรีอยุธยา ต่อมานักพระสัฏฐาผู้น้องไปเอาทัพญวนมาฆ่าพระยาละแวก แล้วได้ราชสมบัติเป็นพระยาละแวกองค์ใหม่ และได้ยกทัพเข้ามาถึงวัดสามวิหาร ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา จนเสียพระจำปาราชลูกชาย แต่ยังไม่เข็ดหลาบ เมื่อมีศึกหงสาวดีติดพระนครครั้งใด ฝ่ายไทยพระมหาธรรมราชา มิได้มีพระทัยอาฆาต จนได้มีการปันเขตแดนปักศิลาจารึก ครั้งศึกเชียงใหม่ยกมา พระยาละแวกได้แต่งน้องชายมาช่วยงานพระราชสงคราม แต่กลับยกทัพมาตีประจันตชนบทแทน ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธเป็นอย่างมาก พ.ศ. 2132 พระองค์จะยกไปแก้แค้น เพื่อไปปราบนักพระสัฏฐาแห่งเมืองละแวก แล้วให้เกณฑ์ทัพมีกำลังคนสิบหมื่น ช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อย กรีฑาทัพจากกรุงศรีอยุธยายกทัพไปตีกัมพูชา โดยเดินทัพไปทางด้านตะวันออก จะผ่านพิหานแดง (พิหารแดง) บ้านนา เมืองนครนายก ระหว่างการเดินทางทัพได้หยุดพักทัพในเขตปราจีนบุรี เพื่อระดมเสบียงและเป็นฐานที่มั่นสำคัญ แล้วเดินทัพต่อไปยังด่านกบแจะ (เมืองประจันตคาม) ด่านหนุมาน (กบินทร์บุรี) ด่านพระปรุง (อำเภอเมืองสระแก้ว) ช่องตะโก ด่านพระจารึก (อรัญประเทศ – ตาพระยา) ตำบลทำนบ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองอรัญประเทศ และเมืองพระตะบอง ตำบลพะเนียด เมืองพระตะบอง (ปัตบอง) เมืองโพธิสัตว์ และเข้าสู่เมืองละแวก การศึกครั้งนั้น สมเด็จพระสัตถาประทับช้างทรงออกมานอกเมืองพบกับพระนเรศวรฯหมายจะกระทำ ยุทธหัตถี แต่ช้างทรงของสมเด็จพระสัตถากลับคร้ามกลัวช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรและวิ่งเตลิดหนีไป สมเด็จพระสัตถาทรงเสียท่าดังนั้นแล้วจึงพาพระโอรสกษัตริย์ทั้งสองและพระมเหสีหนีไปเมืองศรีสุนทร สมเด็จพระนเรศวรทรงเข้าบุกเผาทำลายเมืองละแวกจนย่อยยับ… จากประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นจังหวัดปราจีนบุรี จึงได้สร้างศาลแห่งนี้ขึ้นเพื่อให้ประชาชนท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงมาสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล และเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่าน เมื่อได้เข้ามาภายในพื้นที่บริเวณศาลฯแห่งนี้ จะพบศาลพระบรมรูปฯ จำนวน 3 ศาลด้วยกัน ศาลหลักตรงกลาง จะประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในท่าประทับยืน ส่วน 2 ศาลซ้ายขวา จะประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในอริยาบททรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดีมิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป เป็นคำประประกาศอิสระภาพจากพม่า บริเวณทางซ้ายมือ จะมีจุดบริการธูปเทียนดอกไม้ และของที่ระลึก นอกจากนี้ในบริเวณทั่วไปจะพบกับรูปปั้นไก่จำนวนมาก อันเป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า ถ้าจะขอโชค ขอลาภจากองค์สมเด็จพระนเรศวรฯ จะต้องแก้บนด้วยไก่ เนื่องจากเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระองค์ทรงโปรดเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ศาลแห่งนี้ ตั้งอยู่บริเวณ สี่แยกเนินหอม อยู่ห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรีไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 320 ประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งเป็นรอยต่อเส้นทางผ่านระหว่างเส้นทางไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดนครนายก และเข้าตัวเมืองจังหวัดปราจีนบุรี จุดเด่นอีกอย่างบริเวณแห่งนี้ ก็คือ ตลาดนัดยามเย็น จะประกอบไปด้วยพ่อค้าแม่ค้ามากมาย มีทั้งอาหารสด และอาหารสำเร็จรูป ซึ่งในช่วงเย็นจะมีประชาชนจำนวนมากมาจับจ่ายซื้อของ ซื่งนักท่องเที่ยวสามารถแวะเป็นจุดซื้อเสบียงก่อนขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้