บ่อน้ำโบราณพระเจ้าทรงธรรม

เมื่อพระเจ้าทรงธรรมเสด็จถึงอำเภอนครน้อย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอท่าเรือ” ในปี พ.ศ. 2459) ทรงจอดเรือพระที่นั่งที่นั่น ทรงโปรดฯ ให้สร้าง “พระตำหนักท่าเจ้าสนุก” ขึ้นมา เพื่อให้ข้าราชบริพารได้ใช้เป็นที่พักผ่อนระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน จึงเรียกว่าอำเภอ “นครน้อย” กว่าขบวนเสด็จฯ จะมาถึงบริเวณนั้นก็เป็นเวลาเย็น ด้วยความเมื่อยล้าอ่อนเพลีย บรรดาเหล่านางสนมกำนัล และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ ต่างก็ลงเล่นน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน ต่อมาในภายหลังบริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “ตำบลท่าเจ้าสนุก” ปัจจุบันตัวพระตำหนักดังกล่าวไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็น คงมีเพียงซากวัสดุเหลือพอให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นพระตำหนักเก่าแก่ก่ออิฐถือปูน เช่น อิฐแผ่น กระเบื้องดิน กองและจมดินอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้พื้นดินเนื่องจากน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นหลักฐานที่สำคัญ 1 บ่อ ที่สร้างขึ้นไว้ให้ข้าราชบริพารได้ใช้ตักดื่มกิน สร้างด้วยอิฐฉาบปูน มีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 6 เมตร ลึกกว่า 50 เมตร ที่ผนังภายในบ่อด้านทิศตะวันออก มีซุ้มประตูเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นบ่อลึกมากขุดต่อมาจากใต้แม่น้ำป่าสัก เวลาน้ำขึ้นน้ำในบ่อก็ขึ้นตามจนเกือบเต็ม ข้าราชบริพารสะดวกในการตักใช้ดื่มกินไม่ต้องเดินไปตักถึงริมฝั่ง เวลาน้ำลงก็เดินลงไปตักที่ประตูภายในบ่อ ปัจจุบันบ่อดังกล่าวยังคงสภาพใกล้เคียงกับของเดิม แต่ตื้นเขินไปมาก
หลังจากพักแรมที่พระตำหนักท่าเจ้าสนุก เป็นเวลา 1 คืน ในวันรุ่งขึ้นพระเจ้าทรงธรรม พร้อมด้วยข้าราชบริพารได้เสด็จขึ้นฝั่งที่ท่าเกยท้องที่อำเภอท่าเรือ อยู่ฝั่งตรงข้าม ปัจจุบันคือบริเวณวัดไม้รวก เพื่อทรงช้างพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท

ข้อมูลเพิ่มเติม

บ่อน้ำศักดิ์สิทธ์อายุ 400 ปี

แชร์
สถานที่ อีสานร้อยแปด