ซุบใบบักม่วง

ชื่อพื้นบ้าน ซุบใบหมากม่วง
ชื่อภาษาไทย  ซุบใบ 500
ชื่อเมนูอังกฤษ   suadyod mamong

มะม่วงมีถิ่นกำเนิดจาก หมู่เกาะบาฮามาส  นกได้จิกกินมะม่วงและคาบเมล็ดมาทิ้งในประเทศอิตาลี
จากนั้นเขาก็กินมะม่วง แล้วเที่ยวไปขี้ใส่ทั่วโลก งอกเงย เป็นมะม่วงเอย

ตำรานักธรรมเอก กล่าวไว้ว่า มะม่วงกำเนิดในถิ่นนี้มานาน
ภาษาบาลี (มคธ) เรียกมะม่วงว่า “อัมพะ”  ส่วนชาวทมิฬ (ศรีลังกา) เรียกมันว่า “มาง”
เขียนภาษาอังกฤษว่า MANG แล้ว ฝรั่งดังโมเขาก็เอาไปอ่านให้ตรงจริต ว่า “แมง”
เติม”โอ”เข้าไปให้มัน บะละฮี่ม จึงออกมาเป็น MANGO แปลว่า ” ไปเถอะไอ้หนู”
ในภาษาอีสาน ถ้ามัน “แมง”  แล้ว  ต้องเตะทิ้งอย่างเดียว กินไม่ได้

เมนูวันนี้ เป็นอาหารของชาวอีสานโดยเฉพาะ นั่นคือการ “ซุบ”
องค์ประกอบในการทำ “ซุบ  ต้องมีการ ต้ม ซอย ตำ  คั่ว และโคเล ครบถ้วน
จึงเรียกว่าการทำอาหารแบบ “ซุบ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอาหารอีสานประเภทนี้

ที่มาของเมนู

ในภาวะฤดูแล้งในภาคอีสาน กาลนานโพ้น เมื่อการชลประทาน ยังไม่เข้าถึง
อาหารตามแหล่งน้ำธรรมชาติเหลือน้อย หาได้ยาก แหล่งโปรตีนที่หาได้
มีเพียง เขียดเขิบ  เขียดน้อย และปลาอื่นๆ ปริมาณน้อยนิด
บรรพบุรุษคนอีสานจึงคิดค้นเมนูอาหารวิเศษนี้ขึ้นมา เมื่อเดือนสามคล้อย
ปีแม่ใหญ่สา เลาป้อยเจ๊ก

ซุบใบบักม่วง

ซุบใบบักม่วง

วัตถุดิบ

1.ใบมะม่วงอ่อน ช่วงเดือน กุมภา – มีนา  แนะนำให้ใช้ ใบมะม่วงแกนหล่อน
ใบมะม่วง อกร่อง ใบมะม่วงสอ
2.ปลา กบ เขียด ตามแต่จะหาได้

3.งาคั่วใหม่ๆ
4.ข้าวคั่ว
5.พริกป่น
6.น้ำปลาแดกต่วง

7.ผักบั่ว หัวหอม ผักหอมเป  ผักอีเสิม

8.บักแปบ หรือ ถั่วปี  มะเขือ ตามแต่จะหาได้
9.มะนาว 2 ลูก ( บางคนก็ไม่ใส่ )

วิธีทำ

1.เอาใบบักม่วงมาต้มให้สุก แล้วนำมาสับ ๆ ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆน้อยๆ

2. ต้มปลา ต้มเขียด กบ ที่หาได้ให้สุก ( จะใช้การปิ้งก็ได้ )
3.นำเนื้อปลา กบ เขียดมาตำ รวมกับใบมะม่วงสับ
4.เอาข้าวคั่ว ๆ พริกป่นลงไป โคเล (คลุกเคล้า)

5 เอางาคั่วลงเติมเยอะ ๆ หน่อย

6 ปรุงรสด้วยน้ำปลาแดก (ต่วง) หรือ ผงนัวตามชอบ

7.หั่นผักหอมต่าง ลงใส่ โคเล อีกหน่อย

8. เทมาใส่ถ้วยใส่จาน โรยหน้าด้วย ผักอีเสิม ( สระแหน่ )
ข้าวเหนียวฮ้อนๆคุ้ย จ้ำ  แซบปานหยัง  หอมฮิ่นๆใส่ดัง ขะน้อย

ความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิต

ซุบใบหมากม่วง หรือ ซุบใบมะม่วง  ถือว่าเป็นอาหารสุดยอด เพราะต้องปีนไปเก็บยอดมะม่วงอ่อน
ใบมะม่วงอ่อน ถือว่าเป็นอาหารชั้นสูง ใกล้เคียงกันกับ ไข่มดแดง
ปกติจะทำกินกันในห้วง กุมภาพันธ์ – มีนาคม -เมษายน ซึ่งตรงกับฤดูแล้งในอีสานบ้านเฮา
เป็นอาหารตั้งแต่โบราณ ที่ทำกินกับเป็นครอบครัวใหญ่ ( หลายใภ้ หลายเขย )

ปัจจุบันสังคมอีสานแปรเปลี่ยนไปตาม วิบากขันธ์  สถาบันครอบครัวไม่อาจทรงสภาพเดิม
เหลือเพียง ปู่ย่ากับหลานน้อย เป็นส่วนใหญ่ คนหนุ่มสาวไม่ค่อยอยู่ถิ่นเกิด
จึงไม่แปลกที่ ชาวอีสานหลายคนไม่ค่อยรู้จักเมนูนี้

ประกอบกับครัวชาวอีสานสมัยใหม่ ไม่ค่อยมี “งา” ไว้ติดสอยห้อยครัว อาหารการกินมีหลายชนิด
ส่วนมาก รีบเร่ง แกงถุง หรือหาเอาตามตลาด เริ่มเป็นครัว กึ่งอัตโนมัติ
การประยุกต์ธรรมชาติรอบตัวให้เป็นอาหารน้อยลง  ความพิถีพิถันในการทำอาหาร
ขาดการถ่ายทอดสู่ลูกหลาน เมนูโบราณนี้ จึงค่อยๆ หายไป


กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*