ช่วงเวลาและลักษณะพิธีกรรมของบุญบั้งไฟ

ช่วงเวลาทำบุญบั้งไฟ

เดือนหก เดือนเจ็ด (เดือนทางจันทรคติ) ซึ่งอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม

ลักษณะพิธีกรรม

เมื่อได้ประชุมกำหนดวันจะทำบุญบั้งไฟแล้ว พวกช่างบั้งไฟก็จะคำนวณหาน้ำหนักทำบั้งไฟ หางบั้งไฟ ตามจำนวนและขนาดหมื่อ(ดินปืน) ที่ชาวบ้านศรัทธาร่วมกันบริจาคเงินซื้อ “ขี้เกีย หรือ ขี้เจี้ย” (ดินประสิว) มาทำ “หมื่อ” ปัจจุบันมักจะมีการแข่งขันบั้งไฟระหว่างคุ้ม หรือบอกกล่าวไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ ให้ทำบั้งไฟมาแข่งขันกัน ตามขนาดที่กำหนด อาจเป็น “บั้งไฟหมื่น” (มีน้ำหนักไม่เกิน 120 กิโลกรัม) “บั้งไฟแสน” (มีน้ำหนักมากกว่า 120 กิโลกรัม) ก็ได้
พอถึง “มื้อโฮมบุญ” หรือวันรวม ชาวบ้านจะจัดทำบุญถวายภัตตาหารเพล แล้วจะมี “พิธีฮดสรง” ให้แก่พระภิกษุผู้มีศีลศึกษาธรรมวินัยมาตลอดพรรษาให้ได้เลื่อนเป็นตำแหน่งสูงขึ้น คือ “ฮด” จาก พระภิกษุธรรมดาให้เป็นภิกษุขั้น “อาจารย์” แต่เรียกสั้น ๆ ว่า “จารย์” ผู้มีอายุครบบวชถ้าอยากบวช พ่อแม่มักจะจัดให้บวชในเดือนนี้ไปพร้อม ๆ กับพิธีนี้

กองฮด กองบวช

ประมาณเวลา 15.00 น. ของมื้อโฮม นำ “กองฮด” และ “กองบวช” มาตั้งไว้กลางศาลาโรงธรรม ทางวัดจะตีกลองเป็นสัญญาณ บอกให้ทุกคุ้มนำบั้งไฟมารวมกันที่วัด แต่ละคุ้มจะเอ้บั้งไฟ (ตกแต่งบั้งไฟ) ของตนให้สวยงามเป็นการประกวดประชันกันเบื้องต้น มีการจัดขบวนการแห่บั้งไฟ และในขณะที่แห่บั้งไฟจะเซิ้งบั้งไฟไปพร้อม ๆ กันด้วย  การเซิ้งบั้งไฟนี้จะมีหัวหน้ากล่าวนำคำเซิ้งเป็นวรรค ๆ ไป แล้วให้ผู้เข้าร่วมขบวนแห่ทุกคนกล่าวตาม ขณะที่กล่าวก็รำให้เข้ากับจังหวะเซิ้งนั้นด้วย

ค้างบั้งไฟ

รุ่งเช้าของวันบุญบั้งไฟ ญาติโยมจะนำข้าวปลาอาหารทั้งขนมหวาน มาทำบุญตักบาตรร่วมกันที่วัด หลังจากพระฉันจังหันเสร็จแล้วก็จะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดแล้วนำไปจุดที่ “ค้างบั้งไฟ” (ร้านสำหรับจุดบั้งไฟ) ที่สำคัญเวลาจุดต้องหันหัว บั้งไฟไปทางทุ่งนาหรือหนองน้ำเพื่อป้องกันบั้งไฟไม่ให้ตกในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็จะพากันมาดูบั้งไฟ หากบั้งไฟจุดแล้วพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ช่างบั้งไฟบั้งนั้นจะได้รับการหามแห่รอบบริเวณค้างบั้งไฟ แต่ถ้าบั้งไฟบั้งใดจุดแล้วเกิด “หลูเถือด” “ชุ” หรือ “แตก” หรือขึ้นจากค้างเพียงนิดเดียวหางของบั้งไฟยังไม่พ้นจากค้าง ช่างผู้ทำบั้งไฟนั้นจะถูก “หามลงตม” บางทีก็ถูกจับโยนลงปลักควายแล้วถูกทาขี้โคลนตลอดทั้งตัว

ที่มา

  • ชลิต ชัยครรชิตและคณะ 2549. สังคมและวัฒนธรรมอีสาน
  • เอกสารประกอบนิทรรศการถาวรอีสานนิทัศน์. ขอนแก่น : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กรุณาแสดงความคิดเห็นของคุณ

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

*