หมวดหมู่ : เกษตรอีสาน

การเลี้ยงไก่ไข่

ถ้าพูดถึงวัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร และที่ทุกบ้านต้องมีติดไว้ในครัวหรือตู้เย็น สิ่งนั้นที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ “ไข่ไก่”
ส่วนแหล่งที่มาของใข่ไก่นั้นก็มีทั้งแบบเลี้ยงเองตามธรรมชาติ กินเปลือกข้าว รำข้าว แมลง ตามท้องนา และอีกแบบที่นิยมเลี้ยงกันก็คือแบบโรงเรือน

เกษตรอีสานวันนี้ ก็อยากนำเสนอการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรือน สำหรับเป็นข้อมูลของเกษตกรอีสานบ้านเรา รวมถึงพี่น้องทางภาคอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้เริ่มต้นเลี้ยงในครัวเรือนหรือผู้ที่คิดจะเลี้ยงเป็นอาชีพ ก่อนอื่นสิ่งหนึ่งที่เราควรรู้ก็คือ

พันธุ์ไก่ใข่

โดยจะแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ

  1. ไก่พันธุ์แท้
    เป็นไก่ที่ได้รับการคัดเลือกและผสมพันธุ์มาเป็นอย่างดี จนลูกหลานในรุ่นต่อๆ มามีลักษณะรูปร่าง ขนาด สี และอื่นๆ เหมือนบรรพบุรุษไก่พันธุ์แท้
    ยกตัวอย่าง ไก่พันธุ์แท้ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ โร๊ดไอส์แลนด์แดง บาร์พลีมัทร็อค เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร
  2. ไก่พันธุ์ผสม
    ฟังดูอาจจะดูเป็นไก่ไม่ดี แต่ที่จริงแล้วเป็นไก่ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างไก่พันธุ์แท้ 2 พันธุ์ โดยมีจุดประสงค์ให้ลูกไก่ได้ข้อดีของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ เช่น ไข่ดก ทนทานโรค เป็นต้น ยกตัวอย่างไก่ผสมที่เป็นที่็นิยมก็คือ ไก่ไฮบรีด

อุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่ไข่

ส่วนนี้เป็นสิ่งจำเป็นมากในการเลี้ยงไก่ไข่ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานอย่างเช่น ถาดหรือรางอาหาร รางน้ำ และอุปกรณ์ที่พิเศษขึ้นมาก็ยกตัวอย่าง เช่น

  1. อุปกรณ์การให้อาหาร มีหลายแบบ เช่น ถาดอาหาร รางอาหาร ถังอาหาร เป็นต้น
  2. อุปกรณ์ให้น้ำ มีหลายแบบขึ้นอยู่กับอายุไก่ เช่น แบบรางยาว แบบขวดมีฝาครอบ
  3. เครื่องกกลูกไก่ ทำหน้าที่ให้ความอบอุ่นแทนแม่ไก่ในตอนที่ลูกไก่ยังเล็กอยู่
  4. รังไข่ โดยปกติรังไข่จะควรมีความมืดพอสมควร และมีอุณหภูมิที่เย็น ซึ่งถ้าหากเลี้ยงแบบโรงเรือนก็จะเป็นรางที่ควรทำความสะอาดง่าย หรือถ้าใครเลี้ยงแบบปล่อย ก็ควรมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการออกไข่ อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น
  5. วัสดุรองพื้น จำพวก ฟางข้าว ซังข้าวโพด แกลบ เป็นต้น เพื่อความสะอาดและความสบายของตัวไก่
  6. อุปกรณ์การให้แสง ทั้งแสงจากธรรมชาติ และแสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์

มาที่ส่วนที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาหารและการให้อาหารของไก่ไข่ ผลผลิตที่ออกมานั้นจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ในส่วนของอาหารและวิธีการให้อาหารจึงสำคัญมาก
เพราะเป็นตัวชี้วัดผลกำไรและขาดทุนได้เลยทีเดียว

อาหารของไก่ไข่

ส่วนประกอบของสารอาหารที่จำเป็นต่อไก่ไข่ ก็ไม่ได้ต่างจากมนุษย์มากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ วัตถุดิบที่นำมาใช้จะต้องเหมาะสมทั้งในเรื่องของ ราคา ปริมาณ และคุณภาพของสารอาหารที่ให้ โดยทางทีมงานอีสานร้อยแปด จะแบ่งให้ทุกคนดูง่ายๆ เป็น สารอาหาร 6 ประเภทใหญ่ๆ

  1. โปรตีน ช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อในการเจริญเติบโตซ่อมแซมรักษา ในอาหารไก่ไข่ควรจะมีโปรตีนประมาณ  13-19%
  2. คาร์โบไฮเดรต มีหน้าที่ให้พลังงาน ให้ความอบอุ่น และเพื่อนำไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควรจะมีอยู่ในอาหารไก่ไข่ประมาณ  38-61%
  3. น้ำ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ช่วยในการย่อย การดูดซึม รักษาอุณหภูมิในร่างกาย และช่วยในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
  4. ไขมัน มีหน้าทีให้ความอบอุ่นและพลังงานแก่ร่างกาย แต่ไม่ควรมากเกินไป
  5. วิตามิน ช่วยให้ไก่มีความต้านทานโรค และบำรุงระบบประสาท
  6. แร่ธาตุ ช่วยในการสร้างโครงกระดูก สร้างเลือด สร้างเปลือกไข่

ชนิดของอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่

  1. อาหารผสม เป็นอาหารผสมจากวัตถุดิบที่บดละเอียดแล้วหลายๆ อย่างคลุกเคล้าให้เข้ากัน สามารถนำไปเลี้ยงไก่ได้ทันที
  2. หัวอาหาร เป็นอาหารเข้มข้นที่ผสมจากวัตถุดิบพวกโปรตีนจากพืช สัตว์ ไวตามิน แร่ธาตุ และยาต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมและลดต้นทุนค่าอาหาร
  3. อาหารอัดเม็ด เป็นอาหารสำเร็จรูปมีให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับอายุของไก่
  4. อาหารเสริม เป็นอาหารที่นำไปเสริมเพื่อเพิ่มสารอาหารด้านต่าง ๆ ที่ยังขาด เพื่อให้ไก่ได้รับสารอาหารครบถ้วน

ต่อมาเป็นที่อยู่อาศัยของไก่ไข่ ซึ่งในเนื้อหานี้จะเป็นการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในโรงเรือน ซึ่งจะต้องสร้างให้เหมาะสมกับปัจจัยต่าง ๆ โรงเรือนจะต้องสร้างให้ถูกต้อง มีความแข็งแรง ทนทาน และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โรงเรือนที่ดีควรจะมีลักษณะดังนี้

โรงเรือนในการเลี้ยงไก่ไข่

  1. ป้องกันแดด ลม และฝนได้
  2. แข็งแรง ทนทาน ป้องกัน นก หนู แมว หรือสุนัขได้
  3. ทำความสะอาดได้ง่าย
  4. ห่างจากชุมชน และอยู่ใต้ลมของบ้าน เพราะจะได้ไม่มีกลิ่นรบกวน
  5. ใช้วัสดุที่หาง่าย ราคาถูก
  6. ถ้าสร้างหลายหลังควรมีระยะห่างมากกว่า 10 เมตร เพื่อให้ระบายอากาศได้ดีและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

แบบโรงเรือนในการเลี้ยงไก่ไข่

ลักษณะของโรงเรือนไก่ไข่จะมีหลายแบบขึ้นอยู่กับงบประมาณ วัสดุ ความยากง่ายในการสร้าง รูปแบบของโรงเรือนไก่ไข่มีดังนี้

  1. แบบเพิงหมาแหงน
    แบบนี้จะสร้างง่าย ลงทุนน้อย แต่จะมีข้อเสียคือฝนอาจจะสาดเข้าทางด้านหน้าได้ง่าย และมีความแข็งแรงน้อย
  2. แบบหน้าจั่วชั้นเดียว
    ข้อดีคือแข็งแรงกว่าแบบเพิงหมาแหงน สามารถป้องกันแดด ลม ฝนได้ดีกว่า แต่จะมีค่าวัสดุ อุปกรณ์ และค่าก่อสร้างมากกว่าแบบเพิงหมาแหงน เพราะรูปแบบมีความซับซ้อนมากกว่า
  3. แบบหน้าจั่วสองชั้น
    แบบนี้จะคล้าย ๆ กับหน้าจั่วชั้นเดียว แต่จะต่างกันตรงที่มีหน้าจั่วชั้นที่ 2 เพิ่งขึ้นมาเพื่อช่วยระบายอากาศ ทำให้แบบนี้จะระบายความร้อนได้ดีและเย็นกว่าแบบหน้าจั่วชั้นเดียว แต่ก็จะมีค่าก่อสร้างแพงกว่าหน้าจั่วชั้นเดียว
  4. แบบหน้าจั่วกลาย
    คล้ายเพิงหมาแหงน แต่สามารถกันฝนได้ดีกว่า และมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากกว่าเพิงหมาแหงน
  5. แบบเพิงหมาแหงนกลาย
    แบบนี้จะมีกว่าเพิงหมาแหงนและแบบหน้าจั่ว เพราะมีการระบายอากาศ และกันฝน กันแดดได้ดีกว่า แต่ค่าใช้จ่ายถูกกว่าแบบหน้าจั่วหลาย
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 1
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 2
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 3
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 4
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 5

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวคิดและวิธีการการเลี้ยงไก่ไข่ขั้นพื้นฐานนะครับ ถ้าหากใครต้องการข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้นก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์ได้โดยตรงเลยนะครับ
www.dld.go.th

ที่มา การเลี้ยงไก่ไข่ กรมปศุสัตว์

ลูกเจี๊ยบพันธุ์ไก่ไข่
พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ไก่ไข่
แม่ไก่พันธุ์ไข่
กรงเลี้ยงไก่ไข่
โรงเรือนเลี้ยงไก่
สภาพแวดล้อมในโรงเรือน
ลูกเจี๊ยบ
แม่ไก่
สายพันธุ์ไก่ไข่
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 1
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 2
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 3
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 4
โรงเรือนเลี้ยงไก่ 5
แชร์
เซียงเหมี่ยง

เด็กผู้ชายบ้านนอก ที่เกิดและโตท่ามกลางความเป็นอีสาน จนซึมซับกลายเป็นความชื่นชอบและสนใจในประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และอีกหลาย ๆ อย่าง จนได้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าในเว็บไซต์ อีสานร้อยแปด นั่นเอง

ดูความคิดเห็น