คลังความรู้

การออกแบบ โคก หนอง นา

การออกแบบ โคก หนอง นา โมเดล เป็นการสำรวจ คิด วิเคราะห์ วางแผนโดยอยู่บนพื้นฐานและหลักการที่ถูกต้อง แล้วเขียนหรือจดบันทึกในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ แผนผัง ตัวหนังสือ ฯลฯ ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อนำไปลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นก่อนที่จะออกแบบได้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นว่า โคก หนอง นา โมเดล คืออะไร สามารถเข้าไปอ่านบทความ โคก หนอง นา โมเดลได้ที่นี่เลย

ขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา

หลักการออกแบบ โคก หนอง นา

การออกแบบพื้นที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เพื่อจะออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยเหล่านี้ ปัจจัยหลัก ๆ มีอยู่ 5 อย่างคือ

ดิน

สภาพดิน เป็นอย่างไร แต่ละพื้นที่จะมีสภาพดินแตกต่างกัน เช่น ดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย ดินเหนียวปนทราย ฯลฯ เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะต้องมีการปรับปรุงสภาพดินอย่างไรให้เหมาะสม และจะได้รู้ว่าดินที่พื้นที่ของเราสามารถกักเก็บได้ได้ดีแค่ไหน และถ้าสภาพดินกักเก็บนำได้ไม่ดี เช่น ดินทราย ก็จะได้หาแนวทางหรือวิธีแก้ปัญหาล่วงหน้าได้แต่เนิ่น ๆ

และการขุดหนองหรือสระน้ำ ก็จะนำดินที่ขุดหนองมาทำโคกและพื้นที่เพาะปลูก โดยทั่วไปจะให้โคกอยู่ทางทิศตะวันตกและปลูกไม้ใหญ่ไว้บนโคก เพื่อให้เป็นร่มเงาในช่วงบ่าย พร้อมปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เมื่อต้นไม้สูงใหญ่จะช่วยบังแดดและให้ร่มเงา

น้ำ

ขุดหนองน้ำ โดยดูทางไหลของน้ำเข้าและออกจากพื้นที่ สังเกตว่าปกติน้ำไหลเข้ามาจุดไหนและไหนออกตรงจุดไหน เพื่อวางแผนขุดคลองหรือสระให้กักเก็บน้ำส่วนนี้ไว้

การวางตำแหน่งหนองหรือสระน้ำในตำแหน่งที่ให้ลมในหน้าร้อนพัดผ่าน ช่วยลดความร้อนให้กับพื้นที่อยู่อาศัยในช่วงหน้าร้อนได้

การขุดหนองหรือสระน้ำ ก็ควรจะขุดเป็นรูปร่างอิสระ คดโค้งเลียนแบบหนองหรือสระน้ำตามธรรมชาติ เพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกบริเวณริมหนอง

และทำชานพักให้ลดหลั่นตามระดับความสูง โดยชั้นแรกควรมีความสูงเท่ากับระดับของแสงแดดที่ส่องลงไปถึง ประมาณ 1.5-2 เมตร และมีการปลูกพืชน้ำหรือพืชที่อยู่ริมน้ำเพื่อให้เป็นที่วางไข่ อนุบาลตัวอ่อนได้ และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตได้

ภูมิสังคม

ลม

ใน 1 ปี ลมจะพัดผ่านพื้นที่ในทิศทางแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับฤดูกาลนั้น ๆ การออกแบบบ้านให้มีทิศทางของช่องลมสอดรับกับลมที่พัดมาในแต่ละฤดูกาล จะช่วยลดการใช้พลังงานในบ้าน และเพื่อให้บ้านเย็นอยู่สบาย

โดยตามหลักปกติ ทิศทางของลมในฤดูกาลต่าง ๆ จะมีทิศทางดังนี้

  • ลมฝนจะพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ลมหนาวหรือลมข้าวเบาจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
  • ลมร้อน พัดจากมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เหมือนกันกับลมฝน และยังพัดจากทิศใต้ขึ้นไปทิศเหนือด้วยในบางช่วง

ไฟ

ไฟ ในที่นี้หมายถึงดวงอาทิตย์ (เพื่อให้จำง่าย ๆ จึงใช้คำว่า ไฟ แทนคำว่าดวงอาทิตย์ ให้เป็นวลีที่คุ้นหูกันที่ว่า “ดิน น้ำ ลม ไฟ”

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก แต่ยังมีรายละเอียดย่อยลงไปอีกว่า การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ไม่ได้ไม่ได้ขึ้นทิศตะวันออกตรง ๆ และก็ไม่ได้ตกในทิศตะวันตกตรง ๆ แต่จะมีการเยื้องไปทิศเหนือหรือใต้ด้วย ตามแต่ละฤดูกาล

คน

ออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการ เช่น ต้องการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำแบบวนเกษตร ต้องการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นหลัก ต้องการปลูกไม้ผลเป็นหลัก เป็นต้น รวมไปถึงจำนวนคนที่จะไปอยู่อาศัยในพื้นที่ว่ามากน้อยแค่ไหน ต้องแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยยังไงถึงจะเหมาะสมกับจำนวนคน เป็นต้น

หลักการออกแบบพื้นที่ โคก หนอง นา โมเดล นี้ ยังมีรายละเอียดที่ลึกลงไปอีกมาก หากสนใจก็สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ หลักการออกแบบ โคก หนอง นา

ดิน น้ำ ลม ไฟ คน

ขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา

เมื่อได้รู้จักกับ โคก หนอง นา โมเดล และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการออกแบบ โคก หนอง นา แล้ว ต่อไปก็คือการลงมือออกแบบพื้นที่ ด้วยตัวเอง

การออกแบบพื้นที่ โคก หนอง นา จะต้องออกแบบด้วยตัวเอง เพราะจะรู้ความต้องการของตัวเองดีที่สุด และรู้จักสภาพพื้นที่ดีที่สุด

ขั้นตอนการออกแบบโคก หนอง นา จะใช้หลักการของภูมิทัศน์พื้นฐาน ซึ่งเป็นหลักวิชาการที่สามารถหาอ่านได้ทั่วไป สำหรับการออกแบบโคก หนอง นา อาจจะมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนลงมาให้น้อยลงจากการออกแบบภูมิทัศน์ทั่วไปบ้าง เนื่องจากความซับซ้อนและรายละเอียดความต้องการจะน้อยกว่าการออกแบบภูมิทัศน์ทั่วไป ที่เน้นความสวยงามและรายละเอียดที่มีมากกว่า ขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา มีดังนี้

  1. สำรวจพื้นที่
  2. วิเคราะห์
  3. การสังเคราะห์
  4. การออกแบบขั้นต้น
  5. การออกแบบขั้นสุดท้ายและการเขียนแบบ
หลักการออกแบบ โคก หนอง นา

การสำรวจพื้นที่

การสำรวจพื้นที่ เป็นการทำความรู้จักกับพื้นที่ ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ มีต้นไม้อะไรอยู่บ้าง มีแหล่งน้ำหรือไม่ แต่ละทิศติดกับอะไรบ้าง และความต้องการของเจ้าของพื้นที่ ว่าต้องการปรับพื้นที่ให้เป็นไปในลักษณะไหน เป็นต้น

การวิเคราะห์

เมื่อได้ข้อมูลต่าง ๆ มาแล้วจากการสำรวจพื้นที่ ก็มาตีความหมายของสิ่งที่ได้สำรวจมา เช่น สภาพดิน ความลาดชันของพื้นที่ ทางเข้าออกอยู่จุดไหน ทิศทางน้ำไหลจากจุดไหนไปยังจุดไหน พื้นที่ปัจจุบันใช้ทำอะไรอยู่แล้วบ้าง หรือการดูทัศนียภาพรอบ ๆ พื้นที่ ในกรณีที่จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น

การสังเคราะห์

หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลออกมาแล้ว ก็นำมาทำเป็นข้อมูลขึ้นมา เพื่อสรุปสิ่งที่ได้จากการวิเคราะห์ เช่น วาดแบบร่างหรือเขียนเป็นแผนผังอย่างง่ายขึ้นมา เป็นต้น

การสังเคราะห์อาจจะเริ่มต้นด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนจะใช้ทำอะไรบ้าง แล้วจึงวาดแบบร่างลงและระบุว่าส่วนไหนใช้ทำอะไร โดยใช้หลักการออกแบบ โคก หนอง นา เป็นพื้นฐาน

ในการสังเคราะห์อาจจะมีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง และเมื่อแก้ไขจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงจะนำไปเขียนแบบขั้นต้นในขั้นตอนต่อไป

การออกแบบขั้นต้น

การออกแบบขั้นต้นเป็นการนำข้อมูลหรือแบบร่างที่ได้จาการสังเคราะห์มาเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น หนองหรือสระอยู่บริวเวณไหน มีพื้นที่กี่งาน ไม้ผลจะปลูกบริเวณไหน เป็นต้น

การออกแบบขั้นสุดท้ายและการเขียนแบบ

เมื่อออกแบบขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว ต่อไปก็เป็นการออกแบบขั้นสุดท้ายและการเขียนแบบ เพื่อที่จะนำไปเป็นต้นแบบในการลงมือปฏิบัติจริงหรือนำไปให้รถขุดอ่านแบบที่เราออกแบบมา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเราตามที่ได้ออกแบบไว้

การออกบบขั้นสุดท้ายจะมีการเขียนแบบ ที่เรียกว่า แบบรูปรายละเอียด (working drawing) ซึ่งก็มีรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ผังแม่บท ที่จะแสดงองค์ประกอบทั้งหมดในพื้นที่ แบบแสดงพันธุ์ไม้ ระบุพืชพันธุ์ไม้ที่จะปลูกในบริเวณต่าง ๆ แบบแสดงรายละเอียด เช่น แนวการถมถนนในพื้นที่ แนวและขนาดการทำคันดิน (บางคนเรียก คันล้อม) หรือแสดงแนวของคลองที่จะขุดไปในส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่ เป็นต้น

ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา สามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ พร้อมตัวอย่างการออกแบบจริง ได้ที่บทความ ขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา ได้ที่นี่เลยครับ

ทั้งหมดนี้เป็นหลักการออกแบบและขั้นตอนการออกแบบ โคก หนอง นา ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นจะต้องทำตามขั้นตอนทุกขั้นตอนเสมอไป แต่ละพื้นที่ แต่ละคน ก็มีความต้องการและรายละเอียดอื่น ๆ แตกต่างกัน เว็บไซต์อีสานร้อยแปดเพียงแค่นำข้อมูลเบื้องต้นมาเป็นแนวทางให้เรียนรู้ต่อไป

นา
แชร์
เซียงเหมี่ยง

เด็กผู้ชายบ้านนอก ที่เกิดและโตท่ามกลางความเป็นอีสาน จนซึมซับกลายเป็นความชื่นชอบและสนใจในประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และอีกหลาย ๆ อย่าง จนได้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าในเว็บไซต์ อีสานร้อยแปด นั่นเอง