ขอขมาผีน้ำผีดิน เป็นรากเหง้าลอยกระทง

ขอขมาผีน้ำผีดิน เป็นรากเหง้าลอยกระทง พิธีกรรมในศาสนาผี สืบเนื่องไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้ในบางแห่ง

หลังรับศาสนาพราหมณ์กับพุทธจากอินเดีย ราวหลัง พ.ศ.1000 คนชั้นสูงในราชสำนักใกล้ทะเลก็ปรับพิธีกรรมในศาสนาผีให้เป็นพราหมณ์กับพุทธ สุดแต่รัฐนั้นยกศาสนาใดเป็นใหญ่ แล้วสร้างคำบอกเล่าขึ้นใหม่เพื่อศาสนานั้น ๆ

พิธีขอขมาผีน้ำผีดิน มีขึ้นเมื่อถึงเดือน 11 ฤดูน้ำหลากนองบริเวณที่ลุ่ม แล้วทำต่อเนื่องยาวนานจนขึ้นฤดูกาลใหม่เรียกเดือนอ้าย ปีนักษัตรใหม่ ตามกลอนเพลงชาวบ้านว่า

เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง
เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง

กิจกรรมอย่างนี้ ทางลุ่มน้ำโขงเรียกสืบมาว่า ไหลเรือ เป็นต้นแบบพระราชพิธี ไล่เรือ มีในกฎมณเฑียรบาลของรัฐในภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วมีพัฒนาการเป็นลอยกระทง

ไหลเรือ

ไหลเรือ หมายถึง ประเพณีปล่อยเรือลงน้ำให้ลอยไหลไปตามน้ำของชุมชนในวัฒนธรรมลาว บริเวณลุ่มน้ำโขงทั้งในไทยและลาว

เป็นพิธีกรรมประจำฤดูกาล เดือน 11 น้ำนอง เพื่อขอขมาผีน้ำผีดิน หรือเจ้าแม่แห่งน้ำและดิน โดยทำสิ่งของเป็นรูปเรือคล้ายงู หรือนาค ด้วยไม้ไผ่ผูกมัดรวมกัน มีกาบกล้วยประกบเป็นรูปเรือ แล้วตัดแต่งกาบกล้วยมีแทงหยวกเป็นลวดลาย

ปัจจุบันมีประดับประดาด้วยโคมไฟ แล้วเรียก ไหลเรือไฟ พร้อมสร้างเพิ่มหรือเพิ่งสร้างความหมายให้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาบูชาพระพุทธเจ้า

ไหลเรือ เป็นคำลาวลุ่มน้ำโขง แปลว่า ลอยเรือ หรือ ปล่อยเรือลอยไปตามน้ำ

ไหล แปลว่า เคลื่อนไป เช่น น้ำไหล

มีรายละเอียดในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน (เล่ม 15 หน้า 5142-5144) จะคัดโดยสรุปพร้อมภาพประกอบ ดังนี้

ไหลเรือไฟ

ไหลเรือไฟ เป็นพิธีกรรมหนึ่งของบุญไต้ประทีปโคมไฟหรือไต้น้ำมัน เดือนสิบเอ็ด

ทำโคมไฟประดับตามลานวัด และตกแต่งร้านประดับโคมไฟ ซึ่งมักจะทำเป็นรูปเรือด้วยไม้ไผ่ผูกมัดกัน มีกาบกล้วยมาประกอบเป็นรูปเรือ และมีการตัดแต่งกาบกล้วยให้เป็นลวดลายสวยงาม ที่เรียกว่า แทงหยวก

ชาวอีสานจะทำโคมไฟมาประดับอยู่ 3 คืน คืนที่หนึ่งเรียกว่า “บุญไต้น้ำมันน้อย” คืนที่สองเรียกว่า “บุญไต้น้ำมันใหญ่” ส่วนคืนที่สามเรียกว่า “บุญไต้ประทีปล้างหางน้ำมัน”

คืนที่สามนี้ หากวัดใดอยู่ใกล้ลำคลองหรือแม่น้ำ จะนำเรือประดับโคมไฟไปลอยน้ำ เรียกว่า ไหลเรือไฟ

การทำเรือไฟ ได้แก่ เอาต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุอื่นใดที่ลอยน้ำได้ ทำเป็นรูปเรือ ซึ่งมีหัวและท้ายยกสูงขึ้น บางลำก็จะประดิษฐ์เป็นรูปหงส์ บางลำก็ทำเป็นพระยานาคหรือกินรี แล้วแต่จะคิดค้นประดิษฐ์กันขึ้นมา จากนั้นก็จะประดับตกแต่งให้สวยงาม เสร็จแล้วประดับด้วยโคมไฟต่างๆ อีกทีหนึ่ง

ไหลเรือไฟ ถือกันว่านอกจากจะเป็นการขอขมาและรำลึกถึงพระคุณของแม่คงคาแล้ว ยังเป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเสด็จจากดาวดึงส์ (วันพระเจ้าเปิดโลก) บูชารอยพระพุทธบาทที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที

อีกประการหนึ่งของประเพณีการไหลเรือไฟ ถือว่าเป็นการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์บนสรวงสวรรค์

ประเพณีการไหลเรือไฟได้ถูกลืมเลือนและทอดทิ้งไปเกือบหมดแล้ว จะมีเหลืออยู่บ้างตามจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี

  • ที่มา
    มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน – 6 ตุลาคม 2559 สุจิตต์ วงษ์เทศ
แชร์
เซียงเหมี่ยง

เด็กผู้ชายบ้านนอก ที่เกิดและโตท่ามกลางความเป็นอีสาน จนซึมซับกลายเป็นความชื่นชอบและสนใจในประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และอีกหลาย ๆ อย่าง จนได้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าในเว็บไซต์ อีสานร้อยแปด นั่นเอง