หมวดหมู่ : คลังความรู้

พญาคันคาก นิทานชาวบ้านลาว-ไทย เรื่องคางคกยกรบขอฝน

คันคาก เป็นคำปากชาวบ้านสองฝั่งโขงที่หมายถึง คางคก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำประเภทเดียวกับ กบ และ เขียด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ น้ำ

พญาคันคาก เป็นนิทานเรื่องคางคกยกรบขอฝนของผู้คนชนเผ่าเหล่ากอตระกูลลาว-ไทย ที่มีหลักแหล่งสองฝั่งโขง แล้วแพร่กระจายถึง จ้วง ในมณฑลกวางสี มีรายละเอียดต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้ ผมเรียบเรียงและดัดแปลงจากหนังสือ ๓ เล่ม คือ

  1. พญาคันคาก (จักรพรรดิคันคากน้อยเล็กพญาแถนหลวง) ชำระและรวบรวมโดย พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี ป.๕) จัดพิมพ์โดยศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.๒๕๑๓
  2. รวบรวมวรรณคดีอีสาน (เล่ม ๒) โดย ปรีชา พิณทอง (อดีตพระศรีธรรมโสภณ-ปรีชา ป.ธ.๙) อุบลราชธานี ๒๕๒๒
  3. พญาคันคาก ปริวัตรและชำระจากหนังสือผูกใบลาน โดย ผ่าน วงษ์อ้วน เอกสารโรเนียว พ.ศ.๒๕๒๕

กำเนิดคันคาก

ดึกดำบรรพ์กาลเมื่อก่อน ก็เป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด คนกับสัตว์พูดจาปราศรัยไต่ถามรู้ความกันเป็นเรื่องปกติธรรมดา

บริเวณหุบเขาและทุ่งราบกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง มีบ้านเมืองแว่นแคว้นหนึ่งตั้งอยู่ ชื่อว่า เมืองชมพู แวดล้อมด้วยคูน้ำและคันดินเป็นปราการอยู่กลางทุ่งราบ ที่มีห้วยหนองคลองบึงบุ่งทามลำธารลานลาดพาดผ่าน

พระราชาผู้ครองเมืองชมพูมีนามว่า พญาเอกราช มเหสีมีนามว่า นางสีดา ข้าทาสบริวารกับไพร่บ้านพลเมืองของนางสีดาและพญาเอกราชมีมากมายนับไม่ถ้วน ล้วนเป็นชนเผ่าเหล่ากอหน่อเนื้อเชื้อพันธุ์ต่างๆ กัน แต่ตั้งหลักแหล่งแห่งหนปนอยู่ด้วยกันอย่างสดชื่นรื่นรมย์อุดมสมบูรณ์

ครานั้นครั้นนางสีดามเหสีมีครรภ์แก่ครบกำหนดคลอด ก็คลอดลูกเป็น คันคาก คือ คางคก ตัวผู้ ผิวพรรณขรุขระน่าเกลียดน่ากลัว ขณะนางสีดาคลอดลูกนั้น ดินฟ้าอากาศเกิดอาเพศสะเทือนเลื่อนลั่นหวั่นไหว เมฆหมอกมัวมน บนท้องฟ้าบดบังทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ฟ้าฝนหล่นห่าลงมาเป็นอัศจรรย์ทั้งแผ่นดิน ผู้คนไพร่บ้านพลเมืองหลากใจไปทั้งสิ้นทุกผู้คน

พญาเอกราช ราชาเมืองชมพู ให้หมอผีหมอพรมาทำนายทายทักโชคชะตาราศีคันคากกุมาร ที่เพิ่งมีกำเนิดเกิดมา หมอผีหมอพรทำนายคันคากกุมาร ว่าถึงจะมีรูปร่างเป็นคางคกสัตว์เดียรัจฉานก็อย่าได้ประมาทหมิ่นนินทาว่ากล่าวตำหนิติเตียน ขอให้บำรุงเลี้ยงเอี้ยงดูจงดี ต่อไปภายหน้าจะเป็นผู้มีบุญมีอำนาจวาสนา เป็นที่พึ่งพิงของบิดามารดาและข้าทาสบริวารตลอดถึงไพร่บ้านพลเมือง

นางสีดากับพญาเอกราช ได้ยินคำทำนายของหมอผีหมอพรก็ดีอกดีใจ คลายทุกข์ร้อนผ่อนปรน จึงให้ข้าคนท้าวนางบ่าวไพร่บำรุงเลี้ยงคันคากลูกชายกายคางคกอย่างยกย่องทุกย่ำยาม

ครั้นคันคากกุมารคางคกจำเริญวัยขึ้นใหญ่เป็นหนุ่มเหน้า ก็เฝ้าคิดจะมีคู่ครองเป็นผัวเมียเหมือนผู้คนทั่วไป นางสีดากับพญาเอกราชมิได้ขัดข้อง แต่ร้องขอให้รอไปจนกว่าคันคากจะมีร่างกายเป็นปุถุชนคนธรรมดาเหมือนสามัญมนุษย์สุดสมบูรณ์ แล้วจะเสาะหานารีมีตระกูลให้เป็นเมีย

คันคากได้แต่ครุ่นคิดคร่ำครวญป่วนในหัวใจมิได้ขาดทุกคืนวัน ก็ตั้งจิตอธิษฐานต่อผีดงผีหมื่นถ้ำล้ำหมื่นผา ตลอดถึงศรีพรหมรักษ์ยักษกุมารไปจนพระอินทร์ปิ่นดาวดึงษา ขอจงดลบันดาลให้กายากลับกลายเป็นผู้คนปกติ จะได้มีคู่ครองตามต้องการ คันคากร่างคางคกเป็นผู้มีบุญบารมีแต่อดีตกาล คำอธิษฐานจึงล่วงรู้ถึงองค์อมรินทร์

ครั้นแล้ว พระอินทร์ก็เหินระเห็จจากเวหาดาวดึงษ์ถึงเมืองชมพู เนรมิตคุ้มหลวงเรือนต้นพร้อมด้วยเครื่องต้น เครื่องตั่งตกแต่งเต็มพิกัดชัชวาลให้คันคาก พร้อมกันนั้นเอง พระอินทร์ก็บันดาลให้คันคากร่างคางคกกลายเป็นคนหนุ่มรูปงาม อร่ามผิวเพียงสุพรรณแผ่นทองธรรมชาติ แล้วอุ้มสมนางอุดรกุรุทวีป ที่เคยเป็นเมียขวัญมาแต่ชาติปางก่อน มานอนเคียงคู่อยู่ในคุ้มหลวงเรือนต้นนั้น เหตุอัศจรรย์ทั้งหมดเกิดขึ้นตอนกลางคืน มิได้มีใครรู้เห็น

ครั้นรุ่งขึ้นก็เป็นเรื่องร่ำลืออื้ออึงทั้งเมืองชมพู รู้หมดทั้งไพร่บ้านพลเมืองด้วยพิศวงงงงันที่จู่ๆ ก็ได้เห็นคุ้มหลวงเรือนต้นตั้งตระหง่านกลางพระนคร

นางสีดากับพญาเอกราชตื่นเช้าขึ้นมา เห็นคุ้มหลวงเรือนต้นอยู่ในวังเวียงเคียงกันไปก็ประหลาดใจ ครั้นเดินไปดูใกล้ๆ จึงรู้ว่าคันคากกลายร่างเป็นโอรสรูปงามเหมือนสังข์ทองถอดรูปเงาะ มีนางเมืองเมียงามอยู่เคียงข้างอย่างเหมาะสม แล้วมาพนมหมากพนมมือกราบไหว้ ก็ชื่นชมยกย่องอย่างผ่องใสเป็นล้นพ้น

นางสีดากับพญาเอกราชถามลูกชาย ว่าเมื่อเจ้ายังเล็กมีรูปเป็นคันคากร่างเป็นคางคก เมื่อแปลงเป็นคนแล้วเอารูปร่างเดิมไปไว้เสียที่ไหนเล่า

ท้าวคันคากเมื่อเป็นคนก็ยกร่างเดิมที่กลายเป็นเกราะทองคำให้ดู

เมื่อประจักษ์แก่ตาหมดทุกคน จึงต่างก็สรรเสริญบุญญาธิการท้าวคันคาก

หลังจากนั้นไม่นานนัก พญาเอกราชก็เวนราชสมบัติบ้านเมืองมอบให้ท้าวคันคากขึ้นเป็นราชาเมืองชมพู ยอยกขึ้นเป็นพญาคันคากอย่างสมบูรณ์

นับแต่พญาคันคากเป็นราชาครองเมืองชมพู บรรดาบ้านเมืองบริวารใหญ่น้อยร้อยเอ็ดพระนคร ก็ล้วนมีความมั่งคั่งและมั่นคงขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงพร้อมใจกันบังคมก้มให้พญาคันคากถ้วนทั่วทุกหัวระแหงทุกแหล่งละหาน จนลืมส่งสการไหว้สาฟ้าแถนเหมือนแต่ก่อน แม้องค์อมรินทราธิราชก็อำนวยอวยพรให้พญาคันคาก

ผีฟ้าพญาแถนเป็นใหญ่อยู่เมืองแมนแดนสวรรค์ ครั้นเมื่อฝูงคนทั้งหลายไปภักดีต่อพญาคันคากหมดสิ้น ถึงเวลากินข้าวก็ไม่บอกไม่หมาย กินแลงกินงายก็ไม่บอกแก่แถน ได้กินชิ้นไม่ส่งขา ได้กินปลาก็ไม่ส่ง รอยไม่ส่งก้างแก่แถน ผีฟ้าพญาแถนเลยโกรธ ก็ไม่ส่งน้ำฟ้าน้ำฝนหล่นลงมาให้บ้านเมืองแว่นแคว้นใหญ่น้อย จนเกิดความแห้งแล้งทุกหย่อมหญ้าสาหัส

พญาคันคากเห็นความทุกข์ยากของไพร่บ้านพลเมือง เพราะภัยแล้งติดต่อกันหลายขวบปี จึงขี่ยนต์อันเรืองฤทธิ์มุดลงไปเมืองบาดาลนาคผู้บันดาลน้ำเลี้ยงโลกได้ แล้วไต่ถามความนัยว่าเหตุไฉนถึงเกิดภัยแล้งแห้งน้ำมานานปี

พญานาคจอมบาดาลจึงบอกว่า เหตุเพราะผีฟ้าพญาแถนไม่ให้นาคทั้งหลายขึ้นไปเล่นน้ำบนสวรรค์ เหมือนแต่ก่อน น้ำเลยไม่แตกฉานซ่านกระเซ็นกระเด็นกระดอนเป็นฝอยฝนหล่นลงมาเลี้ยงโลกมนุษย์ เมืองชมพูและบริวารเลยยากแค้นแสนกันดาร ด้วยแถนฟ้าเคืองรำคาญผู้คนที่ไม่บัดพลีดีไหว้ มัวแต่ไปบังคมพญาคันคากนั้นแล

พญาคันคากรู้ความตามจริงก็ยิ่งโกรธพิโรธนัก สั่งให้พญานาคผู้เป็นเมืองบริวารทำทางถนนจากเมืองชมพูขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์ หมายจะจู่โจมโรมรันแถนฟ้าเพื่อหาน้ำมาเลี้ยงโลก

พญานาคพร้อมนาคบริวาร พากันแผ่พังพานพวนขนดแล้วขดขนขุนภูเขาทุกเขตแคว้นแดนมนุษย์เอามาต่อเข้าด้วยกัน

ขณะนาคตั้งต่อภูเขาเป็นแกนแก่นกลาง พญาคันคากก็ให้บรรดาปลวกระดมขนดินมาถมพอกภูเขาให้เป็นทางถนนด้นดั้นถึงเมืองแถนในทันที

พญาคันคากให้บริวารประโคมตีเกราะเคาะไม้และโปงเปิง เป็นสัญญาณระดมสมกำลัง ไปรบศึกพิลึกมหึมาบนเมืองฟ้าเมืองแถน ฝูงพญาครุฑยุดพญานาคมาพร้อมกัน ทั้งฝูงต่อฝูงแตนและมิ้ม ผึ้ง มอด มด ทั้งหมดทั้งนั้นมาพร้อมเพรียงด้วยสรรพสัตว์สารพัดเสือสิงห์กระทิงแรดในปัถพี

เมื่อสารพัดสัตว์มาชุมนุมสุมสามัคคีพร้อมกันแล้ว พญาคันคากก็คืนร่างเป็นคางคกขึ้นนั่งหลังช้าง แล้วสั่งให้เคลื่อนขบวนล้วนไพร่พลโยธีไปตามทางถนนหนเหินเดินเป็นหมวดหมู่แถวแนว ตรงแน่วขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์ชั้นฟ้าพู้นแล

นิทานพญาคันคากเบื้องต้นที่คัดมาให้อ่านนี้ มีนัยสำคัญคือคนร่างคางคก สอดคล้องกับภาพเขียนสีที่กวางสีเป็นรูปคนทำท่ากบ อายุ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว แสดงว่าเรื่องพญาคันคากเป็นคำบอกเล่าเก่าแก่นาน ๓,๐๐๐ ปีเช่นเดียวกัน แต่มีรายละเอียดเพิ่มมากกว่ากันตามจินตนาการซับซ้อน สนุกสนานยิ่งนัก

ที่มา

  • มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 เม.ย. – 22 เม.ย. 2547 สุจิตต์ วงษ์เทศ
  • ภาพประกอบ https://www.marcusburtenshaw.comthoughts2016522the-2016-rocket-festival-yasothon-thailand
แชร์
เซียงเหมี่ยง

เด็กผู้ชายบ้านนอก ที่เกิดและโตท่ามกลางความเป็นอีสาน จนซึมซับกลายเป็นความชื่นชอบและสนใจในประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และอีกหลาย ๆ อย่าง จนได้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าในเว็บไซต์ อีสานร้อยแปด นั่นเอง