ส่วงเฮือ ไหลเรือ ขอขมาผีน้ำผีดิน

แข่งเรือ, ลอยเรือ, ไล่เรือ เป็นพิธีกรรมขอขมาผีน้ำผีดิน แล้วเสี่ยงทายขอความมั่นคงในพืชพันธุ์ธัญญาหารของชุมชนบ้านเมืองและรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีรากเหง้าจากชุมชนดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว บริเวณแม่น้ำลำคลองในภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ พบหลักฐานและร่องรอยหลงเหลือในประเพณีลาวลุ่มน้ำโขง

หลังรับศาสนาจากอินเดีย ราชสำนักใกล้ทะเลก็รับประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาจากอินเดียไปห่อหุ้มคลุมประเพณีพื้นเมืองให้ศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้น

พิธีกรรมของชุมชนลุ่มน้ำโขง

ส่วงเฮือ กับ ไหลเรือ เป็นพิธีกรรมขอขมาผีน้ำผีดินประจำฤดูกาล เดือน 11 น้ำนองของชุมชนในวัฒนธรรมลาว บริเวณลุ่มน้ำโขงทั้งในไทยและลาว

พบร่องรอยในเอกสารเก่าว่าพิธีขอขมาผีน้ำผีดิน ทำต่อเนื่องตั้งแต่เดือน 11 จนหลังขึ้นฤดูกาลใหม่ สอดคล้องกับกลอนเพลงชาวบ้านว่า

เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง
เดือนอ้าย เดือนยี่ น้ำจะรี่ไหลลง

ยังไม่พบหลักฐานตรงๆ ว่า ส่วงเฮือ กับ ไหลเรือ เป็นพิธีทำรวมในคราวเดียวกันหรือแยกกัน

แต่พบร่องรอยว่าทำแยกกัน มีในพระราชพิธียุคอยุธยา ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า เดือน 11 แข่งเรือ, เดือน 12 ลดชุดลอยโคมลงน้ำ, เดือน 1 (อ้าย) ไล่เรือ

ส่วงเฮือ

ส่วงเฮือ หมายถึง ประเพณีแข่งเรือของชุมชนในวัฒนธรรมลาว บริเวณลุ่มน้ำโขง ทั้งในไทยและลาว เป็นพิธีกรรมประจำฤดูกาล เดือน 11 น้ำนอง เพื่อขอขมาผีน้ำผีดิน หรือเจ้าแม่แห่งน้ำและดิน หมายถึง นาค ผู้คุ้มครองแม่น้ำโขง (ตามตำนานว่ามี 15 ตระกูล) มีร่องรอยอยู่ในหนังสือ “คองสิบสี่” ของทางการลาว (อ้างอยู่ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 13 หน้า 4437)

ส่วงเฮือ เป็นคำลาวลุ่มน้ำโขง แปลว่า แข่งเรือ

ส่วง แปลว่า แข่ง, เฮือ ตรงกับ เรือ

[มีรายละเอียดในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 13 หน้า 4435-4440]

ไหลเรือ

ไหลเรือ หมายถึง ประเพณีปล่อยเรือลงน้ำให้ลอยไหลไปตามน้ำของชุมชนในวัฒนธรรมลาว บริเวณลุ่มน้ำโขงทั้งในไทยและลาว

เป็นพิธีกรรมประจำฤดูกาล เดือน 11 น้ำนอง เพื่อขอขมาผีน้ำผีดิน หรือเจ้าแม่แห่งน้ำและดิน โดยทำสิ่งของเป็นรูปเรือคล้ายงู หรือนาค ด้วยไม้ไผ่ผูกมัดรวมกัน มีกาบกล้วยประกบเป็นรูปเรือ แล้วตัดแต่งกาบกล้วยมีแทงหยวกเป็นลวดลาย

ปัจจุบันมีประดับประดาด้วยโคมไฟ แล้วเรียกไหลเรือไฟ พร้อมสร้างเพิ่มหรือเพิ่งสร้างความหมายให้เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาบูชาพระพุทธเจ้า

ไหลเรือ เป็นคำลาวลุ่มน้ำโขง แปลว่า ลอยเรือ หรือ ปล่อยเรือลอยไปตามน้ำ

ไหล แปลว่า เคลื่อนไป เช่น น้ำไหล

[มีรายละเอียดในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 15 หน้า 5142-5144]

ที่มา

  • สุจิตต์ วงษ์เทศ https://www.matichonweekly.com/culture/article_9508
แชร์
เซียงเหมี่ยง

เด็กผู้ชายบ้านนอก ที่เกิดและโตท่ามกลางความเป็นอีสาน จนซึมซับกลายเป็นความชื่นชอบและสนใจในประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และอีกหลาย ๆ อย่าง จนได้นำสิ่งเหล่านี้มาบอกเล่าในเว็บไซต์ อีสานร้อยแปด นั่นเอง