หมวดหมู่ : อาหารอีสาน

ซุบบักมี่

ชื่อพื้นเมือง ซุบบักมี่
ชื่อภาษาไทย   4 บักมุบ
ชื่อภาษาอังกฤษ Soup Perfect Plants  อักษรย่อ  SPP.

ความเป็นมา

บักมี่ หรือ ขนุน   เป็นพืชที่มีมานานในถิ่นนี้ กระจายพันธุ์ไปจนถึง เอเชียใต้   ตามหลักฐานบันทึกฝรั่งลงเรือ
พบมันมีมากในแถบ มลายู  ชื่อฝั่งของมันคือ jackfruit  เรียกตามชาวโปตุเกส  ที่ถามชาวมาเล ว่า
“นี่ลูกอะไร “
“อ้อ ลูก แจ๊กก้า “ ชาวมาเลตอบ
“ อืมม..ผลแจ๊ค “  จดลงกระดาษ มุบ ๆ  กันลืม

ที่ชาวอีสานเรียกขนุน ว่า บักมี่  เพี้ยนมาจากคำว่า “ บักหมี” เหตุเพราะสมัยโบราณเห็นหมีควาย
ปีนเอาผลไม้ชนิดนี้มากิน จึงเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า “ บักหมี” จนในที่สุดเป็น บักมี่ เหมือนในปัจจุบัน
ผลสุกของมันหอมไปไกล   500 เมตร ไม่มีใครได้กลิ่นแล้วบอกว่าเหม็น
บักมี่ นำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง เป็นทั้งผัก และ ยารักษาโรค เปลือกนำมาต้มย้อมผ้าจีวร
น้ำยางของมัน นำมาผสมกับยางไม้อื่น เป็น “ตั๋ง “ ใช้ ติดจักจั่น
ใช้ผสมกับน้ำมันยาง(ยางนา) ผสมกับ “ขี้ C “ใช้” ยาคุ”  “ยาเฮือ”  “ยากาละมัง  มหาอุด
บักมี่ เป็นต้นไม้ เพศผู้  เพราะมัน “มีหำ” สัตว์ต่างๆ กินบักมี่เป็นอาหาร
นับตั้งแต่ ลิงค่าง บ่าง ชะนี หมี อีเกีย แมลงและคน  ไปจนถึง ฤาษี
เมล็ดของมัน นำมาต้มกินเป็นของคบเคี้ยวได้ อีกต่างหาก  นี่สิ Perfect

ส่วนประกอบอาหาร  ( สูตรป้าหน่อย )

บักมี่ฝ้าย ( ผลกำลังหนุ่ม  ไม่เอาผลหลอด )
ถั่วปี ( ถั่วฝักยาว )
หัวหอมแดง
งาคั่ว
ข้าวคั่ว
บักเผ็ด ( พริก )
น้ำปลาแดกต้ม
กระเทียม
เกลือสินเธาว์เมืองเกินร้อย
กบนา 2-3 ตัว หรือ ปลาค่อ ก็ได้
ผักบั่ว  ผักหอมป้อม  ผักอีเสิม  (สะระแหน่ )  ผักหูเสือ แตงกวา ผักติ้ว
เสริม น้ำปลา กับ ผงนัว

ซุบบักมี่

วิธีทำ

เสาะหาบักมี่   โดยธรรมดามักจะให้สาวพรหมจรรย์ ขึ้นไปเก็บผล บักมี่ โดยเลือกเอาผลพอเหมาะ
ไม่อ่อน ไม่แก่เกินไป สำหรับคนขึ้น อย่าลืมใส่ กกน .เป็นเด็ดขาด
1.ผ่าบักมี่  ลอกกาบออก ฝานเป็นงีม  แล้วนำไปต้มให้สุก  ใส่ถั่วฝักยาวลงต้มด้วยกัน
2.ต้มกบ ในท่า “ขัดสมาธ” ถือว่าเป็น เทคนิคของกุ๊กอีสาน  ใส่เกลือนิด ๆ

3. ฆ่างัว  คั่วงาไว้ แล้วตำให้ละเอียด หอมกรุ่นกลิ่นงา

4. คั่วข้าวคั่ว  แล้วตำให้ละเอียดพองาม อย่าให้ละเอียดมากนัก  กุ๊กระดับตำนานอีสาน
จะควงสากเป็นประทักษิณ ( เวียนขวา )  3 รอบก่อนลงมือตำข้าวคั่ว
5.คั่วพริก หัวหอมแดง กระเทียม   แล้วนำไปตำให้ละเอียด  กุ๊กระดับตำนาน เวลาตำจะทำหน้าเอียงซ้ายนิด ๆ
เพื่อหลีก การ “ ฟ้ง” ของพริกและของที่กำลังโขลก ใช้มือซ้าย ป้องปากครกไว้หน่อยหนึ่ง
ป้องกัน “หอมสะเดิด” ออกจากครก
7.นำกบ “ขัดสมาธ” ซึ่งได้สมาธิ ฌาน 4   เหลือแต่ อภิญญา 6   จึงต้องตำใส่ครก รวมกัน
8. นำบักมี่ที่ต้มสุกแล้ว มา”บิ”ออกเป็น “เปี่ยง”  แล้วตำ  ใส่ถั่วฝักยาว ตำลงไปอีก

9.นำงามาโรย แล้ว “ คะลน” ให้เข้าเนื้อ
10.โรยข้าวคั่วลงไป “คะลน” อีกที

11 ปรุงรสด้วย น้ำปลาแดกต้ม  ผงนัว
12. ตักออกมาตกแต่งกับผักต่างๆ ในสำรับให้ดูน่าทาน

เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเมนูนี้

ในสมัยมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น บุกขึ้นฝั่งใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ
แม้แต่ในจังหวัดสกลนคร ยังมีทหารญี่ปุ่นตั้งค่ายในพื้นที่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร
มีกองทหารญี่ปุ่น จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งกำลังบำรุงไปยังจุดต่างๆ  ทหารญี่ปุ่นตั้งค่าย ในทุ่งนาแห่งหนึ่ง
ใกล้กับตัวอำเภอ  ในขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง  อีสานหน้าแล้งนั้น แร้นแค้นอาหารการกิน

ทหารญี่ปุ่นซึ่งคุ้นเคยกับมหาสมุทร และอาหารทะเล  พอมาเจอทุ่งนาหน้าแล้งอีสาน
ประสบปัญหากับการกินอยู่โดยกันดาร  หิวโซ  ระบบส่งอาหารที่จะส่ง “ซูชิ” มาจากแดนไกล
ถูกตัดขาด  กลยุทธทางทหารเพื่อให้อยู่รอด เมื่อประสบกับภาวะเช่นนี้  คือการผูกมิตรกับชาวถิ่น
เพื่อให้กองทหารมีอาหารการกินให้พอรอดพ้น

ชาวบ้านอีสานเห็นกองทหารญี่ปุ่นอดอยาก  หิวไส้แห้ง  จึงทำอาหาร “ ซุบบักมี่” ไปให้กิน
ชาวญี่ปุ่นได้ลิ้มรส ”ซุบบักมี่” ที่เป็นของแซบอีสาน ถึงกับน้ำตาร่วง
วางดาบคำนับ “พาโตก” คำนับชาวบ้านด้วยความเคารพ  แซบหลาย
ทั้งอร่อย ทั้งซึ้งในน้ำใจ   มิตรภาพไทยอีสานกับ ญี่ปุ่น จึงเบ่งบาน แม้ในยามสงคราม เพราะซุบบักมี่
ผู้พัน ทากาชิ  นาบุโระ นำพากองทหารเข้าผูกมิตรกับชาวบ้าน โดยตั้งค่าย และสร้างหมู่บ้านขึ้น
ให้ชาวบ้านได้อยู่   เมื่อทหารย้ายออกไป หมู่บ้านนั้น จึงถูกเรียกว่า  “ นาโบโหละ”  หรือ “นาบุโระ”
เรียกตามชื่อของผู้พัน ผู้มีน้ำใจงาม ทากาชิ  นาบุโระ

หมู่บ้านนาบุโระ ตั้งอยู่มาช้านานนับจากนั้น จนถึงสมัยที่มีการสร้าง ถนนหนทางต่างๆ
ซึ่งมีการสำรวจ และทำแผนที่ต่างๆ ในประเทศ  ต้องมีการกำหนดจุดพิกัด หมู่บ้าน ตำบล
และอำเภอต่างในแผนที่   เจ้านายในสมัยนั้น ถามว่า หมู่บ้านนี้ ชื่ออะไร
ชาวบ้านตอบ “ บ้านนาบุโระ “
อุวะ ถิ่นอีสานกันดารแบบนี้ จะมีชื่อหมู่บ้านเป็นญี่ปุ่นได้อย่างไร  เสียหมา ชะมัด
ท่านจึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ บ้านนาเมือง “    ปรากฏในแผนที่
แต่ชาวบ้านแถบนั้นยังเรียก หมู่บ้านนี้ว่า  “ บ้านนาบุโระ”  จวบทุกวันนี้

สชาติของ “ซุบบักมี่”  คือ หอมงา หอมข้าวคั่ว  มันจากถั่วฝักยากต้มบด และนัวแซบจากบักมี่ต้ม
รวมๆ กับคือ รสชาติ “ อูมามิ”   ผสมกับกินผัก รสฝาด รสเปรี้ยว เข้ากันได้ดี อีสานแท้ๆ แม้ไม่ทาอะไร
อย่างไรก็ตาม อาหารเมนูนี้  ชาวลานนาก็ทำกินกันเหมือนกัน  คาดว่าคงได้รับการถ่ายทอดจากอีสาน

บักมี่ หรือ ขนุน ตามความเชื่อของไทย เป็นพืชมงคล ปลูกไว้ประจำบ้านช่องห้องหับเป็นการดี
นั่นเพราะ เราจะได้มีโอกาสลิ้มลอง   “ซุบบักมี่”  อาหารวิเศษของเทพอีซาเนีย
ลองแล้วจะติดใจ เหมือน ผู้พัน  ทากาชิ นาบุโระ  คำนับ “พาโตก”

แชร์
Alitta Boonrueang