เดือนสู่ขวัญข้าว ประเพณีบุญข้าวจี่

“เดือนสามค้อย เจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เข้าจี่บ่ใส่น้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตา”  สุภาษิตคำพังเพยผญาอีสาน ที่พรรณาเกี่ยวกับประเพณีบุญข้าวจี่ หรือ “ข้าวกี่”   ในราวๆ เดือนสาม ซึ่งจะตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา หรือวันเพ็ญเดือนสาม รุ่งเช้า ชาวบ้านจะมีการนำข้าวจี่ไปถวายพระสงฆ์ เพื่อเป็นการทำบุญ โดยจะมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่เช้ามืด หลังจากที่พระสงฑ์ฉัน ก็จะมีการเลี้ยงกันเองร้องระบำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เหมือนดังผญาที่ได้กล่าวไปข้างต้น

บุญข้าวจี่

ในช่วงเดือนนี้ ชาวนาถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาแต่โบราณ ถือว่าเป็นเดือนสู่ขวัญข้าว เพราะเพิ่งผ่านฤดูการเก็บเกี่ยวไปไม่นาน จะมีการถวายข้าวเปลือก ตามหมู่บ้านบางที่เรียกประทายข้าวเปลือก ทำรวมกันทั้งหมู่บ้าน ตามแต่ศรัทธาว่าบ้านไหนจะถวายมากน้อย แล้วแต่ว่าผลผลิตในปีนั้นๆ ได้เยอะมากแค่ไหน เมื่อแบ่งข้าวไปถวายแล้วก็จะมีพิธี “ตุ้มปากเล้า” (ตุ้ม = การรวม , เล้า = ยุ้งฉาง) เป็นการบูชาข้าว หรือพระแม่โพสพที่อยู่ในเล้า

บุญข้าวจี่นั้นจัดขึ้นทั่วไปในแถบอีสาน เพราะอีสานปลูกข้าวเหนียวเยอะ โดยเฉพาะแถบ สกลนคร อ.สว่างแดนดิน อ.พังโคน เป็นต้น จะมีการจัดบุญข้าวจี่ประจำปี อย่างปีที่ผ่านๆมามีการจัดบุญข้าวจี่ยักษ์ ซึ่งเป็นสถิติใหม่ ที่ถูกบันทึกว่า เป็นข้าวจี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในงานก็จะมีกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ อย่างรื่นเริง

ข้าวจี่ยักษ์

วิธีทำข้าวจี่ นั้นก็มีหลายแบบ ทั้งที่เป็นข้าวจี่แบบธรรมดา คือโรยเหลือ แล้วก็จี่ หรือย่างจนเหลือง หรือบางที่ก็ไม่ได้โรยเหลือปั้นข้าวใส่ไม้ไผ่ หรือไม้กระบวย ย่างจนเหลืองสุก แล้วค่อยใส่น้ำปลา หรืออีกวีธีนึงที่เป็นที่รู้จักกันก็คือ ข้าวจี่ทาไข่ ไข่ไก่ 1 ฟองสามารถทาข้าวจี่ได้หลายไม้ การทำคือ ตีไข่และปรุงให้เรียบร้อย พอจี่ข้าวให้เหลืองได้ที่แล้ว ก็ทาไข่ใส่ข้าว แล้วก็จี่ต่อไปจนไข่สุกเหลือง เคล็ดลับการปรุงไข่ บางที่มีการใส่น้ำมันหมูไปในไข่ด้วยเล็กน้อย พอขึ้นจี่ จะเหมือนกันการทอดไข่ ซึ่งทำให้ไข่มีกลิ่นหอม น่ารับประทานเพิ่มขึ้นไปอีก

ข้าวจี่ทาไข่

ข้าวจี่นับว่าเป็นอาหารอีสานแบบง่ายๆ โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว ที่อีสานจะหนาวเป็นพิเศษ ปีไหนที่หนาวมากๆ ชาวบ้านต้องมานั่งรวมกันผิงไฟ ก็จะมีกิจกรรมการจี่ข้าว แบ่งกันกิน พร้อมกับสนทนากันรอบกองไฟไปด้วย

ประเทศลาวเองก็มีข้าวจี่เหมือนกัน ที่หลวงพระบางข้าวจี่คือขนมปังแท่งยาวๆแบบฝรั่งเศส นำมาผ่าซีก เสร็จแล้วนำไปใส่เครื่องเคียงต่างๆ เช่น แตงกวา ไข่เจียวตัดเป็นเส้นๆ หมูยอ หมูหยอง(คนลาวเรียกหมูฝอย)และปรุงรสด้วยซอสมะเขือเทศ ข่าวจี่ของลาวจะต่างจากข้าวจี่ทางภาคเหนือและอีสานของไทย

ปัจจุบันข้าวจี่ได้เป็นที่นิยมกระจายไปยังพื้่นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะคนอีสานไปอยู่ทุกที่ จะสังเหตุได้จากไปเดินตลาดเช้า ไม่ว่าจะอยู่ที่เมืองกรุง หรือ ตจว. ก็มักจะเห็นมีการปิ้งข้าวจี่ขายเป็นประจำ

แชร์
ไทสกล คนสว่าง

แอดมินอีสานร้อยแปด ไทสกล คนสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บอีสานร้อยแปด นำเสนอข้อมูลรอบด้าน ทุกเรื่องราวของพี่น้องชาวอีสาน เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดแต่เกิดอยู่สกลนคร ออนซอนประเพณีวัฒนธรรมที่ราบสูงที่เรียกว่าภาคอีสาน จึงได้รวบรวมข้อมูลเรื่องราวเหล่านั้นรังสรรค์ผลงานนำเสนอผ่านเว็บไซต์ "อีสานร้อยแปดดอทคอม"

ดูความคิดเห็น