ประวัติบ้านคำชะอี มุกดาหาร บรรพบุรุษของชาวบ้านคำชะอีเป็นชนเผ่าผู้ไทยดำ เดิมมีพื้นที่เดิมอยู่ เมืองแถน หรือ เมืองแถง เมืองนี้ในปัจจุบันคือ เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม
สาเหตุที่เรียกผู้ไทยดำ เป็นเพราะพวกเขาชอบใส่เสื้อผ้าสีดำ เนื่องจากในสมัยนั้นชนเผ่านี้รู้จักสกัดสีจากพืชชนิดหนึ่งซึ่งจะได้สีดำคราม จึงเรียกว่าต้นคราม ประกอบกับความรู้สึกของชาวผู้ไทยเห็นว่าเป็นสีที่สวยงาม จึงนิยมนำมาย้อมผ้าทำเป็นเครื่องนุ่งห่มและใส่สีดำเป็นประจำ ไม่ว่าจะไปทำงานหรือไปงานบุญพิธีต่างๆ จึงได้รับขนานนามว่า “ผู้ไทยดำ”
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานกล่าวว่าบรรพบุรุษชาวบ้านคำชะอี โดยเหตุการณ์เริ่มมาจากเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้กองทัพสยามขึ้นไปปราบได้สำเร็จและได้กวาดตอนผู้คน รวมทั้งผู้ไทยเมืองต่างๆ เข้ามาอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง แต่ก็ยังมีชาวผู้ไทยอีกจำนวนมากที่ทิ้งบ้านทิ้งเมืองหลบหนีภัยสงครามเข้าไปอยู่ในป่า สำหรับผู้ไทยเมืองวังและเมืองคำอ้อกลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาดตอนมานั้น ได้ขอเข้าไปอยู่กับพระจันทรสุริยวงศ์ (พรหม) เจ้าเมืองมุกดาหารคนที่ 3 อยู่ชั่วระยะหนึ่งก็ขออนุญาตจากเจ้าเมืองอพยพออกมาทางทิศตะวันตกของเมืองมุกดาการ เพื่อหาทำเลแห่งใหม่ และกลุ่มที่อพยพมานี้ต่างยกให้ ท้าวสิงห์ เจ้าเมืองคำอ้อเป็นผู้นำ
ในตอนแรกกลุ่มที่อพยพมานี้ เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ค่อนข้างจะเป็นที่โคกหินแห่ (หินลูกรัง) ไม่เหมาะทำการเพาะปลูก จึงอพยพลงมาทางทิศใต้มาเห็นสายน้ำแห่งหนึ่งบริเวณรอบๆ มีความชุ่มชื้นเหมาะแก่การเพาะปลูก ชาวเมืองวังจึงตัดสินใจปักหลักอยู่ที่นี่เพื่อจะสำรวจพื้นที่ทำกินต่อไป เมื่อได้พักและสร้างเพิงที่พักแล้ว ชาวเมืองวังกลุ่มนี้ก็พากันออกสำรวจที่ทาง ใครถูกใจตรงไหนก็จับจองเอาตามใจชอบ (สมัยนั้นคนมีน้อย ที่ดินมีมากไม่มีการห้ามหวง ซื้อขายแต่อย่างใด) แต่ละคนก็ได้ที่ดินกันกว้างขวาง เมื่อพื้นที่ถูกขยับขยายออกไปเรื่อยๆ จำนวนคนก็เพิ่มมากขึ้นกลายเป็นชุมชนย่อมๆ กระจายกันอยู่ เช่น บ้านโพนแดง บ้านหนองไหล บ้านฝากห้วย บ้านตาดโตน และบ้านคำชะอี โดยบ้านนี้ใหญ่กว่าทุกบ้านที่กล่าวมา ต่อมา บ้านโพนแดง บ้านหนองไหล บ้านฟากห้วย และบ้านตาดโตน ก็โดนทิ้งร้างในที่สุด เนื่องจากผู้คนอพยพเข้ามาอยู่บ้านใหญ่คือ บ้านคำชะอี และไปอยู่ถิ่นอื่นนั่นเอง
ต่อมาปี 2450 บ้านคำชะอีได้รับการยกฐานะเป็นตำบลคำชะอี โดยมี เจ้าพรหมรินทร์ (นายต้อน สุวรรณไตรย์) เป็นกำนันคนแรก และในวันที่ 6 มิถุนายน 2499 ก็ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอคำชะอี ส่วนบ้านคำชะอีก็กลายเป็นเพียงอำเภอร้าง มีฐานะเป็นตำบลคำชะอี ขึ้นกับอำเภอคำชะอี และมีฐานะเป็นเพียงเจ้าของช่อ “อำเภอคำชะอี” เท่านั้น
ดูความคิดเห็น