ปอเทือง นับว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก ๆ เหมาะสำหรับปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินหรือปลูกเพื่อความสวยงามก็สามารถทำให้เป็นจุดสนใจแก่นักท่องเที่ยวได้เช่นกัน
เมื่อเราพูดถึง ปอเทือง ก็จะนึกถึงทุ่งดอกไม้สีเหลืองอร่ามปลูกเป็นวิวสำหรับถ่ายรูปที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ร้านกาแฟ หรือ ฟาร์มต่าง ๆ ก็นำไปปลูกกลายเป็นจุดสนใจของสถานที่แห่งนั้นจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ วันนี้ทีมงานอีสานร้อยแปดเราก็เลยไปรวบรวมข้อมูลรอบด้านเอามาฝากทางเว็บไซต์แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางด้านราคา ประโยชน์ใช้สอย อายุการปลูก การเก็บเกี่ยว กี่วันถึงจะออกดอก เทคนิคการปลูกแบบง่าย ๆ เป็นต้น ว่าแล้วเราก็ไปดูข้อมูลกันเลยว่าจะมีความน่าสนใจมากน้อยขนาดไหน
ปอเทือง (ภาษาอังกฤษ : sunhepm) คือ พืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาปลูกเพื่อไถกลบให้เป็นปุ๋ยพืชสด และยังสามารถใช้เป็นอาหารของสัตว์เลี้ยง เช่น ใช้เป็นอาหารของวัว อาหารของควาย ดอกปอเทืองใช้เป็นอาหารของหมู นอกจากนี้เหมือนที่ได้กล่าวไปตอนต้น ยังนิยมนำมาปลูกเพื่อความสวยงาม สำหรับถ่ายรูปสวย ๆ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ โดยปกติจะปลูกในช่วงที่พักจากการปลูกพืชหลัก และประมาณการให้ปอเทืองโตเต็มวัยพร้อมไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดในช่วงเข้าฤดูฝน ก่อนที่เกษตรกรไถปลูกพืชหลัก เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วนเต็มที่
ปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ลักษณะของต้นจะเป็นไม้พุ่มมีกิ่งก้านมากปานกลาง ความสูงของลำต้นจนถึงยอดจะอยู่ที่ประมาณ 50 – 300 เซ็นติเมตร เปลือกของลำต้นเป็นเยื่อบาง ๆ มีสีเขียว สามารถลอกออกเป้นเส้นบาง ๆ เหมือนลอกปอ สามารถนำไปใช้สอยได้ แก่นของลำต้นมีเนื้อเป็นไม้เนื้ออ่อน มีความเปราะมาก หักง่าย มีเยื่อมากสามารถนำไปใช้ทำกระดาษได้ดี ลักษณะของดอกเป็นแบบใบเลี้ยงคู่เล็กเรียวยาว แตกใบเยื้องกันตามลำต้นมีสีเขียวสด ดอกมีสีเหลืองลักษณะช่อดอกเป็นแบบราซีม(Racemes)อยู่ตรงปลายยอดของกิ่ง ในช่อดอกจะมีดอกย่อยอีก 10 – 20 ดอก ดอกตูมจะมีสีเขียวเอมเหลือง เมื่อออกดอกและเจริญเติบโตกลายเป็นฝักจะมีลักษนะมนยาวทรงกระบอก ความยาว 5 – 10 เซนติเมตร มีเมล็ด 5 – 8 เมล็ด จากข้อมูลพบว่าเมื่อชั่งน้ำหนักเมล็ดใน 1 กิโลกรัมจะมีจำนวนเมล็ดอยู่ถึง 40,000 – 50,000 เมล็ด หรือถ้าหากเกษตรกรใช้ถ้วยตวง 1 ลิตรตักแล้วนับจำนวนเมล็ดจะมีจำนวนเมล็ดอยู่ที่ประมาณ 35,000 เมล็ด
วิธีการปลูกปอเทืองนั้นทำได้ไม่ยาก เพราะปอเทืองถือว่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตไว ไม่ต้องดูแลอะไรมากปล่อยให้โตเองตามธรรมชาติเลยก็ยังได้ การปลูกปอเทืองนั้นนิยมปลูกอยู่ 2 ฤดู คือหน้าหนาวหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม และอีกช่วงคือราว ๆ เดือนสิงหาคม – ตุลาคม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปลูกเพื่อใช้ทำอะไร จะปลูกเพื่อรับประทาน ปลูกเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ปลูกเพื่อทำเป็นหญ้าสำหรับอาหารสัตว์ หรือ ปลูกเพื่อเป็นการท่องเที่ยว ช่วงเวลาในการปลูกนั้นไม่ได้ตายตัว แล้วแต่การวางแผนของแต่ละคนได้เลย
หลังจากที่เราเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทำการไถกลบพรวนดิน และตากดินไว้สัก 1 – 2 สัปดาห์ ไม่ต้องเผาตอซังฟางข้าว เศษของพืชเหล่านี้จะกลายไปเป็นปุ๋ยได้เช่นเดียวกันครับ อีกอย่างการไถกลบก็เป็นการช่วยย่อยไม่ให้เกิดต้นอ่อน หรือแตกหน่อขึ้นมาใหม่
หรือถ้าเราอยากจะลดต้นทุนไม่อยากจะไถกลบ ก็สามารถหว่านเมล็ดของปอเทือง หรือจะโรยเป็นแถว เป็นหลุมแล้วแต่ความชอบ จากนั้นก็ตัดต่อซังข้าวกลบก็ได้เช่นเดียวกัน
เมื่อเราเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกเรียบร้อยแล้ว และตากดินจนครบสัปดาห์แล้ว ให้เตรียมเมล็ดของปอเทืองอยู่ที่อัตราส่วน 3 – 5 กก./ไร่ อาจะเพิ่มด้วยปุ๋ยคอกแล้วไถกลบตื้น ๆ เพื่อให้เมล็ดงอกได้ง่าย และไม่โดนแสงแดดโดยตรง
หรืออีกวิธีอาจจะโรยเป็นแถว เพื่อความสวยงาม โดยให้แถวห่างกัน 50 – 100 ซม.
ปกติเมื่อเราทำการไถกลบแบบตื้น ๆ ถ้าเป็นการปลูกหลังฤดูการเก็บเกี่ยวใหม่ ๆ ดินจะยังมีความชื้นมากอยู่ มากพอที่จะทำให้เมล็ดปอเทืองงอกและเติบโตจนถีงเก็บเกี่ยว เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่จำเป็นจะต้องให้น้ำก็ได้ แต่ถ้าดินมีความแห้งจำเป็นต้องให้น้ำ เราต้องมีความระมัดระวังในการให้น้ำ เพราะถ้าให้จนน้ำท่วมขังเกิน 2 วัน เมล็ดปอเทืองจะเน่าและไม่งอก
ปอเทืองเป็นพืชที่งอกไว เจริญเติบโตง่าย และส่วนมากเราก็จะปลูกเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสด มักไม่พบวัชพืชชนิดอื่นเติบโตขึ้นมาแซงได้ หรือถึงแม้จะมีก็มักจะเติบโตไม่ทันปอเทือง เพราะฉะนั้นถ้าหากเราจะปลูกปอเทืองไม่ต้องกังวลเรื่องวัชพืชหรือศัตรูพืชเลย
เนื่องจากอายุของดอกปอเทืองตั้งแต่การปลูกไปจนถึงออกดอกจะมีอายุประมาณ 50 – 60 วัน เพราะฉะนั้นหากต้องการเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารเราจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงนี้ ส่วนการเก็บฝักเพื่อจะนำเมล็ดไปใช้งานต่อ หรือเพื่อขายเมล็ดพันธุ์จะต้องรอไปอีก เพราะมีอายุอยู่ที่ 120 – 150 วันนับตั้งแต่เมล็ดงอก ซึ่งเราจะได้เมล็ดประมาณ 80 – 100 กิโลกรัมต่อไร่ หรือถ้าเก็บดอกและใบเพื่อไปเป็นอาหารสัตว์จะเก็บผลผลิตได้อยู่ที่ประมาณ 2 – 3 ตัน / ไร่ ถ้าเป็นน้ำหนักแห้งจะอยู่ที่ 500 – 900 กิโลกรัมต่อไร่
ถ้าหากเราปลูกปอเทืองเพื่อเอาเมล็ดสำหรับนำไปใช้ปลูกในฤดูกาลต่อไป หรือจะนำไปจำหน่าย จะต้องทำการนวดฝักเพื่อเอาเมล็ดออกมา ซึ่งมีวิธีการคือนำผักมาบรรจุในถุงหรือกระสอบแล้วทุบเพื่อให้ฝักแตกจากนั้นแยกฝักและเศษวัชพืชอื่น ๆ ออกให้เหลือแต่เมล็ด เราก็จะได้เมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปใช้งานได้ต่อไป หรือจะนวดด้วยการใช้รถแทรกเตอร์เหยียบ ๆ เลยก็ได้เช่นเดียวกัน บางที่อาจจะมีเครื่องสีเพื่อเอาเมล็ดปอเทือง
วิธีการใช้ปอเทืองทำเป็นปุ๋ยพืชสดสามารถทำได้โดยการไถกลบเมื่อปอเทืองมีอายุประมาณ 50 – 60 วัน ซึ่งช่วงนี้ปอเทืองจะกำลังออกดอก ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีปริมาณธาตุอาหารเยอะ ทำให้การทำปุ๋ยได้ผลดีมากขึ้น หลังจากที่เราไถกลบเสร็จเรียบร้อย ปล่อยทิ้งไว้ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนที่จะทำการปลูกพืชหลัก เช่น ข้าวโพด ข้าว ถั่ว ฯลฯ
ปริมาณของปุ๋ยไนโตรเจนที่เราจะได้จากปุ๋ยพืชสดปอเทืองจะอยู่ที่ประมาณ 10 – 20 กิโลกรัมต่อไร่ (น้ำหนักสดของต้นปอเทืองจะอยู่ประมาณ 1.5 – 3.0 ตันต่อไร่)
นอกจากปอเทืองที่เราสามารถปลูกเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสดแล้ว ยังมีปุ๋ยพืชสดจากพืชชนิดอื่น ๆ ที่เราสามารถปลูกเพื่อนำมาเป็นปุ๋ยพืชสดได้เช่นเดียวกัน เผื่อว่าเราไม่อยากปลูกปอเทืองและมีพืชเหล่านี้อยู่ในพื้นที่อยู่แล้วก็อาจจะหามาใช้ทำประโยชน์ได้ ซึ่งปริมาณปุ๋ยที่เราทำการรวบรวมมาจะเป็นปริมาณจากน้ำหนักแห้ง (น้ำหนักแห้ง = น้ำหนักสด / 5 โดยประมาณ) ตัวอย่างการหาน้ำหนักแห้งของปุ๋ยพืชสดเช่น เรามีต้นสด 20 กิโลกรัม จะได้น้ำหนักแห้ง 20/5 = 4 กิโลกรัมเป็นต้น
ชนิดของพืชที่นำมาทำปุ๋ยพืชสด | ปริมาณไนโตรเจณ (%N) | ปริมาณฟอสฟอรัส (%P2O5) | ปริมาณโพแทสเซียม (%K2O) |
---|---|---|---|
ถั่วมะแฮะ | 2.34% | 0.25% | 1.11% |
โสนอัฟริกัน | 2.87% | 0.42% | 2.06% |
แหนแดง | 3.30% | 0.57% | 1.23% |
ปอเทือง | 2.76% | 0.22% | 2.40% |
ถั่วพร้า | 2.72% | 0.51% | 2.14% |
ถั่วพุ่ม | 2.68% | 0.39% | 2.46% |
ใบฉำฉา | 2.10% | 0.09% | 0.40% |
การที่เราจะทำปุ๋ยพืชสดด้วยปอเทืองหรือไม่ว่าจะทำปุ๋ยพืชสดจากพืชชนิดใดก็แล้วแต่ เรามาทราบข้อมูลคร่าว ๆ กันก่อนว่าปุ๋ยพืชสดนั้นมันคืออะไร ปุ๋ยพืชสดก็คือปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการไถกลบในขณะที่ต้นยังมีความสด โดยไถกลบในช่วงที่ต้นพืชกำลังออกดอกซึ่งเป็นช่วงที่พืชมีน้ำหนักมากและมีแร่ธาตุสารอาหารสูง เมื่อย่อยอาหารจะปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชหลักที่เรากำลังจะปลูกต่อ นิยมใช้พืชตระกูลถั่วเพราะในพืชตระกูลนี้จะมีแบคทีเรียชื่อไรโซเบียม (Rhizobium) ซึ่งอาศัยอยู่ในปมรากมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนที่เป็นธาตุอาหารจากอากาศได้ดี มีให้เลือกปลูกให้เลือกหลายชนิด จากตารางตัวอย่างด้านบน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพดินของเกษตรกรแต่ละคน
ปุ๋ยพืชสดนั้นมีประโยชน์มากมาย นอกจากช่วยให้พี่น้องเกษตรกรประหยัดต้นทุนในการซื้อปุ๋ยได้แล้ว (โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียและแอมโมเนียซันเฟส) ยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน ทำให้ดินร่วนซุยมีปริมาณธาตุอาหารที่พอเหมาะกับพืช รากของปุ๋ยพืชสดสามารถชอนไชลงไปในดินทำให้ดินโปร่งขึ้น ร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดี ปลูกให้เป็นพืชคลุมดินป้องกันวัชพืชอื่น ๆ ได้อีกด้วย สำหรับวิธีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เราสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เกษตรอีสาน
คำตอบคือ กินได้ ดอกสดสามารถกินได้ทั้งแบบสด ๆ หรือจะเอามาลวกกินกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปทำเป็นอาหารเมนูอื่น ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้มยำ แกงเลียง แกงส้ม แกงเปอะ แกงหน่อไม้ ก็สามารถนำดอกปอเทืองลงไปปรุงเพิ่ม เพื่อเพิ่มความหอมอร่อยได้ นอกจากนี้ดอกและรากของปอเทืองยังมีสรรพคุณทางยา
ดอก มีสรรพคุณทางยา ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ขับลม ช่วยเจริญอาหาร ขับเสมหะ แก้เรื่องคออักเสบ ท้องร่วง รักษาลำไส้อักเสบ หรือ จะนำมาผสมน้ำแล้วต้มอาบก็สามารถช่วยรักษาโรคผิวหนังและอาการคันต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ราก มีสรรพคุณ ช่วยขับพยาธิ ขับลม และ ขับปัสสาวะ ได้อีกด้วย
ปอเทืองจะเริ่มออกดอกหลังการปลูกไปแล้วประมาณ 50 – 60 วัน ช่วงนี้แหละที่สามารถเก็บนำไปประกอบอาหารได้ ถ้าหากต้องการปลูกเพื่อเก็บฝักจะมีอายุเก็บเกี่ยวฝักประมาณ 120 – 150 วันหลังจากที่เมล็ดงอก
ปัจจุบันราคาเมล็ดพันธุ์ของปอเทืองนั้นมีราคาที่ไม่แพงมาก อยู่ที่ประมาณ 30 – 50 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดของแต่ละปี หากท่านต้องการสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ปอเทืองสามารถกดเพิ่มเพื่อนแล้วทักมาหาทีมงานอีสานร้อยแปดได้ทางไลน์ด้านล่าง เพื่อสอบถามราคาและสอบถามว่ามีสินค้าไหม เพราะทีมงานอีสานร้อยแปดเรามีสโตร์ออนไลน์ที่รวบรวมผลผลิตจากพี่น้องเกษตรกรมาฝากจำหน่ายออนไลน์ เพราะฉะนั้นหากท่านต้องการเมล็ดพันธุ์ปอเทืองก็สามารถทักทายมาหาเราได้เลยครับ
วิธีการเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ดี เราจะต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่เก็บเมล็ดพันธุ์เก่าเอาไว้นานเกินไป เมล็ดจะต้องไม่ลีบเล็กหรือมีลักษณะไม่สมบูรณ์ เพราะจะทำให้อัตราการงอกลดน้อยลงและต้นอาจจะไม่แข็งแรง ปุ๋ยที่ได้หรือผลผลิตที่ได้จะไม่คุ้มค่าเอาได้