สำหรับโพสท์นี้จะขอพาพี่น้องไปเที่ยวงานบุญประเพณีที่น่าสนใจและมีชื่อเสียง นั่นก็คืองานประเพณีแห่ผีตาโขน ผีตาโขน เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จัดขึ้นในช่วงมิถุนายนและกรกฎาคม โดยจัดขึ้นในวันที่ในแต่ละปีจะมีคนทรงประจำเมืองเป็นผู้เลือกวัน ซึ่งงานบุญประเพณีพื้นบ้านนี้มีชื่อเรียกว่า บุญหลวงโดยแบ่งออกเป็นเทศกาล ผีตาโขน, ประเพณีบุญบั้งไฟ และงานบุญหลวง (หรือ บุญผะเหวด)
สำหรับในปีนี้ ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประจำปี 2558 โดยขบวนแห่ผีตาโขนจะจัดขึ้นใน วันที่ 27 มิถุนายน 2558 บริเวณวัดโพนชัยและหน้าที่ ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยงานบุญหลวง ประเพณผีตาโขนของอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย
ผีตาโขน เป็นเทศกาลที่มีความเกี่ยวข้องกับมหาเวสสันดรชาดก ชาดกในทางพระพุทธศาสนา ที่ว่าถึงพระเวสสันดร และพระนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมืองหลวง บรรดาสัตว์ป่ารวมถึงภูติผีที่อาศัยอยู่ในป่านั้นมีความอาลัยรัก จึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสอง พระองค์กลับเมือง “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” อย่างในปัจจุบัน
ผีตาโขนจะมีการทำรูปหน้ากาก มีลักษณะ น่าเกลียดน่ากลัว มาสวมใส่และแต่งตัวมิดชิด แล้วเข้าขบวนแห่แสดงท่าทางต่าง ๆ ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่าง
ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำ และเข้าร่วมสนุก ได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน
ซึ่งวันแรกจะเป็นเทศกาลผีตาโขน ซึ่งเรียกวันนี้ว่า วันโฮม โดยจะมีพิธีเบิก พระอุปคุตต์ ในบริเวณระหว่างลำน้ำหมันกับลำน้ำศอก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขัน ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทรเพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมาถามว่า “ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่” ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า “ไม่ใช่” พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า “ใช่ นั่นแหละ พระอุปคุตต์ที่แท้จริง” เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้วก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับที่หอพระอุปคุตต์ มีการยิงปืนและจุดประทัดซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรือ อยู่ตามที่ต่างๆก็จะมา ร่วม ขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดัง
ส่วนวันที่สองของเทศกาลดังกล่าวจะมีพิธีจุดบั้งไฟบูชา พร้อมด้วยเครื่องแต่งกายที่หลากหลาย รวมถึงการแข่งขันเต้นรำตลอดจนขบวนพาเหรด เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หามตามด้วย
เจ้าพ่อกวนนั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียม กับบริวารชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดินตามเสด็จไปรอบเมืองก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออก ให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่ แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่
ส่วนในวันที่สามและวันสุดท้ายจะมีการให้ชาวบ้านฟังเทศน์ เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆของปีมารวมกันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิตแก่ชีวิต
นอกจากที่จะได้ชมขบวนแห่ประเพณีอันสวยงามแล้ว จังหวัดเลยยังมีสถานที่อื่น ๆ ใกล้เคียงให้ได้แวะเที่ยวแวะชมกันก่อนกลับอีกมากกมายครับ ไม่ว่าจะเป็น สวนหินผางาม ภูผาหินเมืองเลยที่ได้สมญานามว่าเป็น คุนหมิงเมืองไทย มีแท่งเขาหินรูปทรงต่าง ๆ สลับกันไปมาดูสวยงามแปลกตา หรือจะเที่ยวธรรมชาติก็มีให้เลือกหลากหลาย เช่น ภูเรือ ภูทอก ภูกระดึง เป็นต้น ดังคำขวัญที่ว่า
เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู