ผีฟ้า ตำนานและความเชื่อที่ไม่เคยเสื่อมคลาย

“ผีฟ้าเอย ได้โปรดเมตตา หมู่เฮาป่วยไข้ บอกใบ้หยูกยา หมู่เฮาบูชา ฮักผีฟ้าเอย..” หลายคนคงเคยได้ยินตำนาน เรื่องเล่าและละครผีฟ้าอันโด่งดังมาตั้งแต่เด็ก แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ประวัติความเป็นมาที่แท้จริงของตำนานเหล่านี้ วันนี้ ทีมงานอีสานร้อยแปด จะขอมาบอกเล่าเรื่องราว ความเชื่อ ความศรัทธาของชาวอีสานที่มีต่อผีฟ้าให้ผู้อ่านที่ชื่นชอบเรื่องราวลี้ลับเหล่านี้ได้ฟังกัน

ผีฟ้า คือเทวดาไม่ใช่ผีสาง

ผีฟ้า สำหรับชาวอีสานมีความเชื่อว่าเป็นเทวดามากกว่าเป็นผีสาง จึงเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิดอื่นๆและมีความเชื่อว่าผีฟ้า สามารถดับทุกข์ ทำลายอุปสรรคหรือช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ เพราะเชื่อว่าการที่มนุษย์เจ็บป่วย เนื่องมาจากไปละเมิดต่อผี ละเมิดต่อบรรพบุรุษ การรักษาจึงต้องมีการเชิญผีฟ้ามาเข้าสิงในร่างของคนทรง ชาวอีสานมักเรียกกันว่า ผีฟ้านางเทียน โดยในพิธีกรรมจะประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ หมอลำผีฟ้า ผู้ป่วย เครื่องคายและหมอแคน

ผีฟ้ากับหมอลำ

หมอลำผีฟ้า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่มีอายุ ยกเว้นในบางพื้นที่เช่น จังหวัดเลย จะเป็นหญิงสาว และจะต้องสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มหมอลำผีเท่านั้น แต่อันที่จริงผีฟ้าสามารถสิงได้ทุกเพศ ทุกวัย หมอแคน จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเป่าแคน เพราะในพิธีจะต้องใช้เวลานานและต้องมีการเป่าตลอดเวลา ผู้ป่วย จะต้องแต่งกายตามที่กำหนดไว้ นั่นคือ มีผ้าไหมหรือผ้าขาวม้าพาดบ่า มีดอกมะละกอร้อยเป็นพวงทัดหูและสามารถฟ้อนรำกับหมอลำได้ สุดท้ายคือ เครื่องคาย เป็นสิ่งที่อัญเชิญครูอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้วมาช่วยรักษาผู้ป่วย

รำผีฟ้า

ส่วนในการรำผีฟ้า จะแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เมื่อครูบาเก่าเข้าสิงร่างทรง ผู้ทำพิธีจะต้องสวมผ้าซิ่นทับผ้าที่สวมอยู่ หรือหากเป็นผู้ป่วยหญิง ครูบาจะสวมผ้าแพรหรือผ้าฝ้าย โดยสวมทับผ้านุ่งเดิม ซึ่งจัดไว้ใกล้เครื่องคาย ในการรักษาทุกคนจะต้องฟ้อนรำและขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นหลัก หากผู้ป่วยต้องการดูการฟ้อนรำก็จะทำหน้าที่ต่อไป แต่ถ้าไม่ต้องการ ก็จะนำเครื่องคายขึ้นไปเก็บไว้บนหิ้ง และร่วมกันรับประทานอาหาร ก่อนผู้ป่วยจะกลับ หมอลำผีฟ้า จะนำกลองกิ่งกลองศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาตี เพื่อให้เสียงดังไปถึงพญาแถนผีหลวง (ผีฟ้า) เพื่อให้ลงมาคุ้มครองเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

เกร็ดความรู้

สาเหตุที่มีการฟ้อนรำ ก็เพื่อให้คนไข้ มีพลังจิตในการต่อสู้กับความเจ็บป่วย มีอารมณ์ผ่อนคลาย จิตใจปลอดโปร่งและสร้างจิตสำนึกด้านความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี จะเห็นว่าผีฟ้าเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมนุษย์ โดยมีคติเตือนใจว่า “คนไม่เห็น แต่ผีเห็น”

ขอขอบคุณรูปภาพและข้อมูล

แชร์
Fern Esan108

สาวอีสานหลานย่าโม แต่ไปเรียนไกลถึงเชียงใหม่ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สปป.ลาว เป็นผู้ชื่นชอบการเขียนบทความทั้งไทยและเทศ และเน้นสาระประโยชน์แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ

ดูความคิดเห็น