ฟ้อนเซียงข้องคิดประดิษฐ์โดย วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด เป็นการฟ้อนที่เกิดจากพิธีกรรมความเชื่อในท้องถิ่นของชาวอีสาน
เซียงข้องหรือเสี่ยงข้องเป็นพิธีที่สร้างขึ้นจากความเชื่อในเรื่องผี ใช้ในการเสี่ยงทายเหตุการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถทราบได้เช่น เสี่ยงทายหาสิ่งของที่หายไป ทำนายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และขับไล่ผีที่มารบกวนความสุขของมนุษย์ และสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน กล่าวได้ว่า เซียงข้องเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวอีสาน ถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อหมดทางแก้ไขเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ตามกฎเกณฑ์ของสังคม
๑. ทำให้คนไม่กล้าทำความผิด เนื่องจากถ้าทำผิดลงไปก็กลัวคนอื่นจะรู้ภายหลัง เพราะพิธีการเสี่ยงเซียงข้องเชื่อว่า เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ และเซียงข้องสามารถค้นหาผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นถ้าท้องถิ่นใดมีความเชื่อในพิธีนี้ ชาวบ้านจะไม่กล้าทำผิด ทำให้ท้องถิ่นนั้นอยู่กันด้วยความซื่อสัตย์และมีความสงบสุข
๒. เป็นที่พึ่งของคนได้รับทุกข์ เมื่อชาวบ้านเชื่อว่าเซียงข้องสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปได้ ชาวบ้านก็จะเป็นสุข โดยไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งเลวร้าย หรือถ้ามีมาก็หวังพึ่งเซียงข้องให้เป็นผู้ปราบปราม ใครจะมาทำผิดคิดร้ายก็ไม่กล้า
๓. ทำให้ชาวบ้านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท การใช้เซียงข้องเสี่ยงทายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นถ้าเป็นเหตุการณ์ร้าย ชาวบ้าจะได้เตรียมตัวหาทางป้องกันหรือแก้ไขต่อไป
๔. ทำให้เกิดความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรมในหมู่คณะ เช่น การไล่จับสัตว์ป่า ถ้าได้มาก็ต้องแบ่งให้เท่า ๆ กัน ไม่ให้โลภ ไม่ให้ลักขโมย ส่งผลให้ชาวบ้านมีความสงบสุข
พิธีกรรม
การจะทำพิธีเซียงข้อง ต้องมีหุ่นเซียงข้อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญจะขาดไม่ได้
อุปกรณ์การทำหุ่นเซียงข้อง
๑.ข้องที่ใช้สำหรับใส่ปลา จะเป็นข้องที่ใช้แล้วหรือข้องใหม่ก็ได้ ที่มีขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ถ้าจะให้ศักดิ์สิทธิ์และขลัง ควรเป็นข้องที่เคยใช้แล้ว
๒. ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕๐ นิ้ว ยาวประมาณ ๖๐-๗๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน และยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ท่อน
๓. กะลามะพร้าวแห้ง ขนาดพอที่จะครอบปากข้องได้ จำนวน ๑ อัน
๔. เสื้อ กางเกง ขนาดพอที่จะสวมข้องได้พอดี สีแดงหรือสีดำ จำนวน ๑ ชุด
๕. ผ้าสีแดงขนาดกว้างประมาณ ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ชิ้น (บางหมอก็ไม่ใช้)
นำเอาไม้ไผ่ยาวขนาด ๖๐-๗๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน เสียบทะลุด้านล่างขึ้นไปยังปากข้องเพื่อทำเป็นขา แล้วเอาไม้ไผ่ที่ยาว ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๑ ท่อน เสียบด้านข้างตอนบน เพื่อทำเป็นแขน มัดไม้ไผ่ทั้ง ๓ ท่อนเข้าด้วยกัน และมัดให้แน่นไว้ภายในตัวข้อง เพื่อไม่ให้หลุดออกจากกัน ในขณะที่เซียงข้องเคลื่อนไหวแรง ๆ ในตอนทำพิธี เมื่อมัดแขนและขาเซียงข้องแน่นแล้ว ก็เอากะลามะพร้าวแห้งครอบที่ปากข้อง เจาะรูที่กะลา ๓ รู ใช้เชือกร้อยมัดกะลาให้แน่นติดปากข้อง จากนั้นตกแต่งหน้าตา โดยเขียน หน้าตา ปาก จมูก บนกะลามะพร้าวและใส่เสื้อผ้าให้เหมือนมนุษย์มากที่สุด
การทำพิธีปลุกเสกเซียงข้องจะต้องมีอุปกรณ์ที่จะใช้ในพิธีอย่างครบถ้วน จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตามที่หมอต้องการไม่ได้ เพราะถ้าอุปกรณ์ไม่ครบ เซียงข้องก็จะไม่ “ลง” (การที่วิญญาณเซียงข้องเข้าสิงในหุ่นเซียงข้องและทำให้เกิดอาการ) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บ่สุน” (วิญญาณเซียงข้องไม่เข้าสิง)
๑. หุ่นเซียงข้องที่ตกแต่งให้เรียบร้อยพร้อมที่จะทำพิธีได้ทันที
๒. คาย หมายถึง ค่ายกครูในการทำพิธีและอาจรวมไปถึงเครื่องปลุกเสกด้วย ต้องเตรียมคายตามที่หมอกำหนด
๓. หมอปลุกเสก เป็นผู้ทำการปลุกเสกเซียงข้อง ซึ่งจะขาดไม่ได้
๔. ผู้จับหรือผู้เต้า หมายถึง คนที่หมอเตรียมไว้สำหรับจับขาหุ่นเซียงข้อง จำนวน ๒ คน ควรเป็นผู้ที่เคยจับเซียงข้องในครั้งก่อน ๆ มาแล้ว คนจับเซียงข้องเป็นคนสำคัญในพิธีจะขาดไม่ได้ การจับเซียงข้องไม่ใช่ว่าใครก็สามารถจับได้ คนจับบางทีเรียกว่า “คนเต้าเซียงข้อง” ต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและจิตแข็ง
๕. ผู้ถามเซียงข้อง จะเป็นใครก็ได้ แต่ควรเป็นคนที่มีไหวพริบเฉลียวฉลาด ในการพูดจาซักถามปัญหาหรือเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดี หรือถ้าการทำพิธีเซียงข้องที่ต้องเชิญผีปู่ตามาเข้าสิงก็ต้องมี “เฒ่าจ้ำ” หมายถึงผู้ดูแลศาลเจ้าปู่ตามาเป็นผู้ซักถามเซียงข้องหรือร่วมพิธีด้วย
๖. เครื่องปลุกเสก จะมีอะไรบ้างนั้นก็แล้วแต่หมอปลุกเสก ประกอบด้วย
– ดอกไม้สีขาว ๑ คู่
– เทียน ๑ คู่
– หมาก ๑ คำ
– บุหรี่ ๑ มวน
– พริก ๑ เม็ด
– เกลือ ๑ หยิบมือ
– ปลาร้า ๑ ชิ้น
– มะขาม ๑ ฝัก
– สุรา ๑ ขวด
– เงิน ๑ สตางค์ เป็นค่าคาย (ค่ายกครู)
นอกจากนี้ยังมีเครื่องเซ่นไหว้ผีปู่ตาอีกได้แก่
– ดอกไม้และเทียนอย่างละ ๕ คู่ (ขัน ๕)
– เหล้า ๑ ขวด
– ไข่ไก่ ๑ ฟอง
– สวย (กรวยใบตอง) ๔ อัน
พิธีเริ่มด้วยเฒ่าจ้ำไปเชิญวิญญาณของผีปู่ตามารับรู้การทำพิธี เสร็จแล้วหมอปลุกเสกจะเริ่มปลุกเสกด้วยคาถาปลุกเสก โดยหมอปลุกเสกจะนั่งพับเพียบ มีผ้าขาวพาดเฉียงบนบ่า หลังจากนั้นหมอปลุกเสกจะจุดเทียน ๑ คู่ และกล่าวอัญเชิญเทวดาให้มาเป็นสักขีพยาน แล้วกราบ ๓ ครั้ง จากนั้นก็นำผู้ร่วมพิธีกล่าวคำไหว้พระ
เมื่อไหว้พระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้จับเซียงข้องก็จะมาจับขาเซียงข้อง จากนั้นหมอปลุกเสกจะรินสุราลงไปในขัน เพื่อทำเป็นน้ำมนต์ สำหรับรดเซียงข้อง เหมือนเป็นการให้เซียงข้องดื่ม จากนั้นหมอจะเริ่มท่องคาถา ปลุกเสกพร้อมเอาสุรารดที่หุ่นเซียงข้อง และเริ่มเสี่ยงทายเพื่อต้องการทราบว่าวิญญาณของเซียงข้องมาสิงในหุ่นหรือยัง โดยหมอจะเป็นผู้ถามว่า “ขณะนี้เซียงข้องมาหรือยัง ถ้ามาแล้วขอให้หุ่นกระดุกกระดิกแรง ๆ ถ้ายังไม่มาขอให้อยู่นิ่ง ๆ ” เมื่อหมอกล่าวจบ ถ้าหุ่นเซียงข้องเฉยก็แสดงว่าวิญญาณเซียงข้องยังไม่เข้าสิง หรืออาจเป็นเพราะผู้จับไม่ถูกใจเซียงข้องหรือผู้จับทั้งสองธาตุไม่ถูกกันอาจต้องเปลี่ยนตัวผู้จับใหม่ถ้าหุ่นเซียงข้องเคลื่อนไหวก็แสดงว่าวิญญาณเซียงข้องเข้าสิงแล้ว
หากต้องการทราบหรือให้เซียงข้องทำอะไร ก็จะทราบคำตอบได้จากการเคลื่อนไหวของหุ่นเซียงข้อง หุ่นจะเคลื่อนไหวในลักษณะโยกตัวไปข้างหน้าและข้างหลัง ซึ่งจะเร็วและแรงมาก หากต้องการทราบที่อยู่ของสิ่งของที่เราไม่สามารถจะรู้หรือมองเห็นได้ เช่น ผีหรือสิ่งของที่ตกหายหรือแหล่งน้ำใต้ดิน และชี้ตัวผู้กระทำผิด หุ่นเซียงข้องก็จะพาผู้จับทั้งสองวิ่งหรือเดินไปตามหาได้ โดยผู้จับไม่ต้องทำอะไรเพียงแต่จับหุ่นไว้ หุ่นก็จะพาไปเอง
หมอธรรมหรือขจ้ำ เป็นชาย นุ่งขาวห่มขาวอย่างเช่นหมอพราหมทั่วไป
ผู้ถือเซียงข้อง เป็นหญิง 6-8 คน โดยจะฟ้อนเป็นคู่ แต่ละคู่จะถือไม้เซียงข้อง ใช้ผ้าขิดสีแดงมัดอก ปล่อยชายผ้าด้านซ้าย นุ่งโจงกระเบน ใช้ผ้าขาวม้าลอดหว่างขา ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงิน
ผู้แสดงเป็นปอบ แต่งหน้าและแต่งกายให้ดูน่ากลัวคล้ายกับผู้ถูกสิ่งชั่วร้ายสิง
บรรเลงวงโปงลาง ลายเซียงข้อง