ชื่อภาษาไทย มดแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oecophylla smaragdina Fabricius
ชื่อสามัญ Red Ant, Green Tree Ant
อันดับ Hymenoptera
วงศ์ Formicidae
มดที่พบและรายงานบันทึกแล้ว ในประเทศไทยมี 247 ชนิดใน 9 วงศ์ย่อย
แต่มดชนิดนี้ โด่งดังรู้จักกันถ้วนหน้า ส่วนหนึ่งมาจาก รสนิยมการกิน “แมลง”
ของพี่น้องบ้านเรา “อีซาเนีย” คือ อีสานบ้านหมู่เฮา นี่หละ
“ไข่มดแดง” คือ อาหารชั้นสูงบนยอดไม้ เพราะมันเป็นมด ที่ทำรังบนต้นไม้
ซึ่งมีเพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้น มดส่วนใหญ่ ทำรังบนดิน , ใต้ดิน และโพรงไม้ ขอรับ
ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น มดแดง เป็นสัตว์ที่ประสบผลสำเร็จในด้านการปกครอง
เหนือชั้นกว่าทุกลัทธิ ทุกระบอบ ที่ปัญญาของมนุษย์คิดค้นขึ้นมาใช้ในโลกา
มดแดงในรังไม่ต้องมีหัวหน้าคอยสั่งการ ไม่เอาเปรียบกัน ต่างทุ่มเทเสียสละทำงาน
ทำตามหน้าที่ของตนไม่เกี่ยงงอน ไม่อิจฉาริษยา ไม่รังแกทำร้ายกัน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน
ไม่ต้องมีศาลหรือ ออกกฎหมายปกครอง บ้านเมืองของมดแดง ก็สงบสุข ต่างเสียสละ
เพื่อรังของมัน ที่ยึดมั่นคือ” ความสามัคคี” นั่นคือเหตุผลที่มี อยู่รอดมาได้
เป็นเวลา 30 ล้านปี ก่อนจะปรากฏ มนุษย์ผู้เลิศด้วยปัญญา
มดแดง คือมดที่ วิวัฒนาการขั้นสูงสุดในบรรดามดทั้งมวล
ทั้งด้านกลยุทธ การปกครอง จริยธรรม ขาดอย่างเดียว คือ ปัญญาประดิษฐ์
นั่นเพราะสัจธรรม ธรรมชาติใด ๆ ทั้งปวง ล้วนไม่สมบูรณ์แบบ
ธรรมชาตินั้น ชิงชังความสมบูรณ์แบบ
มดแดง คือมดที่น่าสนใจเอามาก ๆ เพราะเป็นราชันย์แห่งมวลมด
การศึกษาวิจัย ทำความเข้าใจเกี่ยวกับมัน อาจนำมาซึ่งประโยชน์
แก่มวลมนุษย์มหาศาล เกินจินตนาการของเราโดยสิ้นเชิง
มดแดง มีลำตัวสีแดง บางครั้ง “แม่เป้ง” (นางพญา) ก็มีสีเขียว แต่โดยทั่วไปนั้น
มีขนาดลำตัว 9 – 11 มม. มีรูปร่างยาวเรียว เอวคอดกิ่ว ปากเป็นแบบปากกัด บ่มีเหล็กไน
รูปร่างยาวเรียว เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว มีสีแดงส้ม บางแห่ง อาจมีสีเขียว
เพราะอยู่ในเขตป่าฝนชื้น แต่ที่พบในเมืองไทย มีสีแดงส้ม
นั่นคือมดแดงที่เราเห็นจนชินตา
ภายในตัวมดงาน ( อีสานเรียกว่า มดส้ม) จะมีกรด ฟอร์มิค ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน แสบร้อน
มันเอาไว้ป้องกันตัว และล่าเหยื่อ ทดแทนการไม่มีเหล็กไน
มันเป็นนักสงครามเคมีขั้นเทพ
นักวิจัยจากสถาบันแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมัน วิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา สกัดเอาไฮโดรเจน
จากกรดมด (Formic acid, HCOOH) โดยไม่ต้องอาศัยอุณหภูมิที่สูงในการแยกเอาไฮโดรเจนออกมา
ซึ่งจำเป็นในการแยกไฮโดรเจนในปฏิกิริยาอื่น และสามารถนำไปใช้ในเซลล์เชื้อเพลิง
นักวิจัยได้พัฒนาวิธีแยกไฮโดรเจนจากกรดมดโดย ในสภาวะที่ปรากฏ เอมีน(เช่น N,N-dimethylhexylamine)
และตัวเร่งที่เหมาะสม (เช่นตัวเร่งที่ขายตัวไป ruthenium phosphine complex [RuCl2(PPH3)2])
กรดมด จะถูกเปลี่ยนไปเป็น คาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนในทันที (HCOOH = H2 + CO2)
การเร่งที่ง่าย ๆ โดยใช้ตัวถ่าน Charcoal เป็นตัวกรองจับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ ซึ่งทำให้ไฮโดรเจน
ที่ออกมามีความบริสุทธิ์จนใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงได้
1. มดนางพญา (ราชินีมด ) มีลำตัวยาว 15 มม. มีสีชมพู หรือสีเขียวอ่อนจางๆ ท้องใหญ่
คือผู้ให้กำเนิดอาณาจักร มีหน้าที่ออกไข่ รับข่าวสารจากมดงาน ประมวลผลว่า
จะออกไข่ชนิดใด กำหนดจำนวนและชนิดของประชากรในรัง ให้เหมาะกับแต่ละฤดูกาล
2. มดนาง ในภาษาอีสาน คือมดตัวเมีย ซึ่งจะทำหน้าที่สืบพันธุ์ เตรียมตัวเป็น
นางพญามด ในวันข้างหน้า มีลักษณะเหมือนกับ มดนางพญา แต่มีปีก อาจมีสีแดง
สีชมพู หรือสีเขียว ก้นใหญ่อวบอิ่ม อาจมีเฉพาะฤดูกาลผสมพันธุ์ ห้วงเดือน เม.ย.-พ.ค.
3. มดตัวผู้ มีขนาดเล็กกว่าบรรดามดในรั้งทั้งหมด มีขนาด 6- 8 มม .ลำตัวเรียวเล็ก
มีสีน้ำตาลแก่ แดง จนถึงสีดำ มีปีกเหมือน แม่เป้ง (มดนาง) มีหน้าที่บินไปผสมพันธุ์กับ
มดนางแม่เป้ง เมื่อฤดูผสมพันธุ์ มาถึง มักจะมีเฉพาะฤดูกาล
4. มดงาน คือมดแดง ที่เราเห็นกันบ่อยๆ มีหน้าที่หาอาหาร สร้างรัง สะสมเสบียง
เลี้ยงดูสมาชิกอื่นในรัง ทำหน้าที่ทหารเมื่อรังถูกคุกคาม เรียกได้ว่าเป็น เครื่องจักรสีแดง
ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่ออาณาจักรอย่างแท้จริง
5. มดทาส หรือ มดสายลับ คือ มดชนิดอื่น ๆ ภายในรังของมดแดง เช่น มดดำตะลาน มดดำขน
มดดำฉุน เกิดจากการ ขโมยไข่มดชนิดอื่นมาเลี้ยงในรัง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพฤติกรรม
และปลอมตัวเข้าไปล้วงความลับ ของแหล่งอาหารในมดต่างชนิด อีกทั้งมดแดงนั้น
ไม่มีมีสัญชาตญาณในการทำนายสภาพอากาศ จึงอาศัยมดต่างชนิด ที่มีความสามารถด้านนี้
ช่วยในการทำหน้าที่เป็น “กรมอุตุนิยมวิทยา”
มดแดงจะผสมพันธุ์กันในช่วงต้นฤดูฝน แม่เป้งกับมดผู้จะบินขึ้นไปผสมพันธุ์
บนกลางอากาศ แล้วมดแม่เป้ง ก็จะหาทำเลเหมาะ ๆ ในการออกไข่บนใบไม้
เมื่อมีจำนวนมดงานมากพอแล้ว มดแดงจะช่วยกันทำรังบนต้นไม้
โดยใช้เส้นใยจากตัวอ่อนของมดแดง เป็นกาวเชื่อมต่อใบไม้ให้เป็นรัง
มดงานจะเกาะตัวกันเป็นลูกโซ่ เพื่อดึงใบไม้มาชิดกัน
แล้วเส้นใยเชื่อมให้ใบแต่ใบติดกัน ห่อหุ้มเป็นรังมดแดง
ต้องอาศัยความสามัคคีอย่างยิ่งยวด
มันกินอาหารได้หลายหลาก ทั้งเมล็ดพืช แมลง และซากของสัตว์ชนิดอื่นที่ตายลง
แม้แต่เศษอาหารของมนุษย์ก็เป็นอาหารของมันได้เช่นกัน
สังคมของมดแดงภายในรังคล้ายกับมนุษย์ มีการแบ่งหน้าที่กันทำงาน
มดงานในรัง เป็นแบบ polymorphic มีรูปร่างต่างแบบกัน
เช่น มดงาน แบบ major worker ส่วนใหญ่หน้าที่คือออกไปนอกรังหาอาหาร
มดงาน แบบ minor worker ทำหน้าที่ดูแลไข่ และเลี้ยงดูนางพญา
มดงาน แบบ ect. worker คือมดต่างสายพันธุ์ ที่มดแดงเก็บไข่มาเลี้ยง
ส่วนใหญ่เป็นมดดำ ที่ทำรังใต้ดิน หรือตามขอนไม้ผุ
มดจำพวก ect. worker ในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับระบบนิเวศน์ท้องถิ่น
ซึ่งมดจำพวกนี้ จะมีเฉพาะรังที่มีอาณาจักรใหญ่แล้วเท่านั้น
รังของมันมีอยู่ 3 ประเภท คือ รังที่พักของมดนักล่า รังฉุกเฉิน และรังใหญ่
หากเราสังเกตดีๆ ตามต้นไม้ที่มีรังมดแดง จะมีหลายรัง บ้างก็รังเล็ก ๆ บ้างก็รังที่อยู่ต่ำ ๆ
กระจายกันอยู่รอบบริเวณรังใหญ่ของนางพญา ( รังที่เราไปเอาไข่มัน )
ซึ่งแต่ละรังใช้ประโยชน์ต่างกัน
คิดเอาเองหรือเปล่า พะนะ (ลังคนสงสัย) เด็กบ้านนอกอย่างผม อาศัยเวลาว่าง
ในขณะที่เลี้ยงควาย รอดาวเทียมไทยคมหมดอายุ สังเกตสังกา รังมดแดง
พบว่ามดแดงนั้นหากินไกลได้ถึง 1 ตารางกิโลเมตร การขนย้ายอาหารเป็นเรื่องลำบาก
บ้างครั้งขนทั้งวันยังไม่ถึงรังแม่ มันจึงสร้างรังพักระหว่างทางในการหาอาหาร
เมื่อล่าแมลงอื่นมาได้ 4 ตัวหาม 3 ตัวแห่ จะลำเลียงมาพักคอยไว้ก่อน ในรังเล็ก
จากนั้นจะมีพวกมารับช่วงต่อ หาบคลอนขึ้นไปหารังใหญ่ (รังที่มีไข่)
รังกระเปาะเล็ก ๆ ต่ำ ๆ ที่อยู่ห่างจากรังแม่ ประมาณ 300 เมตร หรือน้อยกว่านั้น
เรียกว่า “รังนักล่า”
ประโยชน์ก็คือ เป็นที่พักชั่วคราวของมดงาน และพักซ่อนอาหาร จากสายตาสัตว์อื่น
ก่อนจะลำเลียงสู่รังใหญ่ เพราะหาก ขนย้ายระยะทางไกล เป็นจุดเด่น
มักจะถูก นกเอี้ยงสาริกา นกเอี้ยงโหม่ง หรือนกอื่นๆ แย่งอาหารไปได้
รังฉุกเฉิน คือรังใหญ่ขึ้นมาหน่อย ในไม้ต้นเดียวกัน แต่ไม่ใช่รังของราชินี (แม่เป้ง)
ใช้สำหรับเมื่อห้วงราชินีออกไข่ ทำให้รังแออัด รองรับจำนวนมดทั้งหมดไม่ได้
จำต้องสร้างรังอีกประเภท ไว้เป็นที่พักของบรรดามดงาน และเก็บอาหาร
บางประเภทไว้ฉุกเฉิน กรณีที่รังใหญ่ ประสบภัยพิบัติ
มดแดง มีการเจริญเติบโตแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ (complete metamorphosis)
โดยในวงจรชีวิตจะประกอบด้วย 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย
มดงานมีอายุ 1 ปี มดตัวผู้ มีอายุ 6 เดือน ส่วนมดนางพญา มีอายุยืนยาวได้ถึง 10 ปีทีเดียว
มดแดงทำหน้าที่ นักเก็บขยะ หรือเทศบาลในธรรมชาติ ทำหน้าที่ควบคุมแมลง และหนอน
ที่จะกัดกินต้นพืชให้เสียหาย จัดการแมลงชนิดอื่น ถ่วงสมดุลให้ธรรมชาติ
ให้ไม้ผล ออกผลสมบูรณ์ดี ผลไม้ไม่เน่าเสีย ป้องกันแมลงวางไข่ หนอนเจาะผลไม้
และหน้าที่เป็นแบบไม่ได้ตั้งใจคือ เป็นอาหารของมนุษย์ และเครื่องปรุงอาหาร
ประเภท “ก้อย” “ต้ม” “ตำเมี่ยง” แกง พร้อมเป็นกับแกล้มชั้นดี
คนอีสานกินไข่มดแดง เป็นอาหารมาตั้งแต่ โคลัมบัส ยังไม่เกิด เป็นอาหารพื้นบ้านที่นิยม
ก่อนนี้ 30 ปี ยังเป็นแค่อาหารของ ผู้ใช้แรงงาน อาหารบ้านนอก ผู้ด้อยโอกาส
เมื่อยุค แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4 มาถึง การอพยพแรงงานจากภาคอีสาน ได้ตะลุย
บุกที่ถิ่นที่ แม้กระทั่งเป็นแม่บ้านฝรั่งดังโม ได้นำเอาเทคนิคการกินไข่มดแดงเผยแพร่
หาแหย่ หาซั๊วรังมดแดง มาทำเป็นอาหารหลากหลาย จนกลายเป็น อาหารภัตตาคาร
บันทึกไว้ตรงนี้ก็ได้ ชาวอีสานและ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นชนชาติแรกที่คิดค้น
การกินไข่มดแดงเป็นอาหาร หรือจะนิยามใหม่ให้เป็น “ไข่โคกเวียร์” เทียบชั้น
ไข่ปลาคาเวียร์ ที่แพงยังกะทองคำในซีกยุโรป
ปัจจุบันไข่มดแดง เป็นสินค้าเศรษฐกิจ ที่สร้างได้งามแก่ผู้คิดดัดแปลงเพาะเลี้ยง
เพราะสภาพป่าโคก ป่าท้องถิ่น ถูกแนวคิด “พัฒนาเหี้ยนเต้” ครอบงำ
จนพี่น้องชาวอีสานเข้าถึงมดแดงได้ยากขึ้น จำนวนลดลง ตามสภาพป่าโคกอีสาน
ในอนาคตอาจมี ไข่มดแดงอัดกระป๋อง เป็นสินค้าส่งออก สร้างรายได้ให้ประเทศ
ในอนาคตอีก อาจใช้แมลงชนิดนี้ในการ ผลิตเชื้อเพลิงบริสุทธิ์ เติมยานพาหนะ
ใครจะไปรู้ถึงตอนนั้น “มดแดง ” อาจเป็นผู้ครองโลกแทนเราก็ได้