สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาสารคาม ก่อตั้งขึ้นเพราะต้องการตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะและ วัฒนธรรมของชาวอีสาน โดยมีความเป็นมา ดังต่อไปนี้
พ.ศ.2513 เริ่มดำเนินการในรูปแบบของการวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน โดยมีคณาจารย์และนิสิตให้ความสนใจ และตั้งหน่วยงานนี้ว่า “ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีที่ตั้งอยู่ในภาควิชา ศิลปะและวัฒนธรรม ม. ศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม จนกระทั่งวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2523 สภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งเป็น “ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน”
ภายในเดือนเดียวกันนี้ คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการฯ ได้สนับสนุนให้จัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งเป็น “สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม 103 จึงถือเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
พ.ศ. 2535 ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยอีสานประยุกต์ 5 ชั้น มีเอกลักษณ์ แสดงถึงความงามทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสาน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ซึ่งออกแบบโดย รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร
ต่อมาในปี 2554 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้ร่วมกับองค์กรด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการวิจัยให้มีความโดดเด่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการที่เชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษาด้านศิลปะ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และอีสานศึกษา ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานอย่างกว้างขวาง โดยมีพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ดังนี้
ชั้น 1 หอศิลป์จำปาศรี ส่วนจัดแสดงผลงานด้านศิลปะ งานนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ
ชั้น 2 ห้องนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมอีสาน ในส่วนนี้จะเน้นการแสดงนิทรรศการแบบกึ่งถาวร โดยนำเสนอข้อมูลด้านศิลปะและวัฒนธรรมด้านต่างๆของอีสาน เช่น พื้นที่กับวิถีชีวิตของชาวอีสาน ประวัติศาสตร์ของภาคอีสาน เกลืออีสาน ผู้คนในอีสาน ฮีตสิบสอง เรือนอีสาน รวมทั้งศาสนาพุทธในอีสาน
ชั้น 3 จะแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 2 โซน คือ 1.) ห้องธรรมเจดีย์นิทรรศ เป็นการนำเสนอองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับเอกสารโบราณ เช่น ใบลาน สมุดข่อย อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในห้องปฏิบัติการ ห้องสืบค้น ซึ่งอยู่ในความดูแลของกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ 2.) นิทรรศการผ้าทอในวิถีชีวิต เป็นการนำเสนอความรู้เกี่ยวกับผ้าทอ วิถีชีวิตของผู้คน และเครื่องมือต่างๆ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกลุ่มงานวิจัย
ชั้น 4 ห้องนิทรรศการศิลปินพื้นบ้านอีสาน เป็นการนำเสนอข้อมูล และเรื่องราวของศิลปินพื้นบ้าน รวมถึงผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมของภาคอีสาน โดยนำเสนอจากฐานข้อมูลของผู้ที่ได้รับรางวัลนาคราชในแต่ละปี
จากกรุงเทพ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 พหลโยธิน ต่อด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 มิตรภาพ ผ่าน จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา และเลี้ยวขวาไปทางหลวงหมายเลข 23 แจ้งสนิท ผ่าน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เข้าสู่ เขต จ.มหาสารคาม ผ่านทาง อ.กุดรัง อ. บรบือ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 23 แจ้งสนิท ผ่าน อ.เมืองมหาสารคาม จนถึงบริเวณหอนาฬิกา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถ. นครสวรรค์ มุ่งหน้าสู่ ม. มหาสารคาม (ม.เก่า) จนถึงสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งจะอยู่ทางซ้ายมือ
เบอร์โทรศัพท์ 043 – 721 – 686
Fax : 043-721-686
Website : https://rinac.msu.ac.th/